Wellness

หมอแนะให้นมลูกต้องดื่มจากเต้าชี้รับนมบริจาคเสี่ยงรับเชื้อโรค

นมแม่
นาวินต้าร์ โพสต์ไอจีแบ่งปันนมแม่

หมอเด็กไม่แนะนำบริจาคนมแม่แบ่งปันกันเอง หวั่นติดเชื้อโรคติดต่อ หลังจากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาสำรวจนมแม่ พบน้ำนมติดเชื้อ 3.3% แนะดื่มนมจากเต้าเป็นอันดับแรก เพราะไม่เพียงสารอาหารแต่ทำให้ลูกสัมผัสการกอดที่ช่วยพัฒนาการทางอารมณ์ได้อีกด้วย

หลังจากนายนาวิน เยาวพลกุล หรือ นาวิน ต้าร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาโพสต์ปกป้องภรรยากรณีบริจาคนมแม่ เพราะมีความเห็นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาเตือนการบริจาคนมแม่ อาจทำให้เด็กที่รับบริจาคได้รับอันตรายได้ ขณะที่ความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย มีทั้งให้กำลังใจและสนับสนุนการบริจาคนมแม่ บางส่วนก็เตือนให้ระวังอันตรายไม่ควรนำชีวิตของเด็กๆ ไปเสี่ยงอันตราย

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า คงไม่ตอบคำถามเรื่องของนมแบ่งปันให้กับเด็กคนอื่นโดยไม่ผ่านธนาคารนมแม่ เพราะในทางการแพทย์ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ขณะเดียวกันสังคมไทยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น เรื่องของการปั้มนมเก็บเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะอันดับแรกของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ การดื่มจากเต้า เนื่องจากการดื่มจากเต้า นอกจากได้รับสารอาหารโดยตรงแล้ว ยังหมายถึงความรักความผูกพัน การสัมผัสจาการกอดของแม่

การสัมผัสด้วยการกอดใน 6 เดือนแรก จะทำให้ทารกมีความผูกพันทางอารมณ์ที่ดีกับแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อเขาเติบโตขึ้นจะมีการพัฒนาการทางด้านอารมณ์ที่ดีกว่า เป็นเด็กร่าเริง โดยแม่สามารถโอบกอดลูกทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง ผ่านการให้นม

พญ.ยุพยง เห็นว่า แม่การปั้มนมเก็บไว้ให้ลูกในช่วงเวลาที่แม่ไปทำงาน เป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ลูกรับสารอาหารจากนมแม่ แต่ควรจะปั้มเท่าที่จำเป็นหรือวันต่อวัน ใช้ในช่วงวันทำงานที่ไม่มีเวลาให้นมลูก เพราะการให้นมลูกไม่ใช่เพียงเรื่องของสารอาหาร แต่เป็นเรื่องของการสัมผัสการกอด เพื่อสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์ด้วย

“คนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าการปั้มนมเก็บไว้จำนวนมาก เพื่อให้ลูกได้สารอาหารจากนมที่เพียงพอ แต่ความจริงแล้วการให้นมลูกจากเต้าดีที่สุด เพราะได้สัมผัสได้กอดทำให้มีพัฒนาการด้านอารมณ์ด้วย”

พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล
พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

ขณะที่พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล ประธานแผนงานสื่อสารสาธารณะ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบริจาคนมแม่ แบ่งปันกันมีตั้งแต่โบราณก็จริง แต่ในทางการแพทย์ หากต้องการดื่มนมแม่ อันดับแรกต้องดื่มนมจากเต้าก่อน หากดื่มไม่ได้ เพราะแม่ติดภารกิจทำงานสามารถปั้มนมเก็บเอาไว้ให้ลูกดื่มได้ โดยจะต้องปั้มให้เพียงพอดื่มวันต่อวันไม่ต้องปั้มเอามาเก็บไว้จำนวนมาก ส่วนทางเลือกที่สาม คือการบริจาคนมแบ่งปัน เป็นทางเลือกที่แพทย์ไม่แนะนำ ให้ดื่มนมแม่จากการบริจาคของแม่รายอื่น เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สึ่งการวิจัยของสหรัฐอเมริกาโดยการตรวจเลือดแม่ 1,096 ราย พบการติดเชื้อทั้ง เชื้อเอดส์ ตับอักเสบ เชื้อซิฟิลิสประมาณ 3.3 % นั่นแสดงให้เห็นว่าแม่ 100 คน ประมาณ 3-4 คน ที่มีเชื้อโรคเหล่านี้อยู่

นมแม่2

“การบริจาคนมแบ่งกันให้กันเองเป็นทางเลือกที่แพทย์ไม่แนะนำเลย คือทำไม่ได้ โอกาสเสี่ยงที่จะรับเชื้อ แต่หากแม่ยอมรับความเสี่ยงเหล่านี้ได้ และต้องการรับน้ำนมจากคนอื่น ก็เป็นสิทธิส่วนตัว ว่าสามารถรับความเสี่ยวเหล่านี้ได้” พญ.ศิริพัฒนา กล่าวและว่า การบริจาคนมแม่สามารถบริจาคได้ เพื่อให้กับเด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีปัญหาเจ็บป่วยได้รับประทาน แต่การบริจาคต้องผ่านธนาคารนมแม่ที่โรงพยาบาล เพราะมีมาตรฐาน โดยต้องซักประวัติผู้บริจาค ต้องเจาะเลือดมีโรคติดเชื้อผ่านทางน้ำนมหรือไม่ และเมื่อบริจาคแล้ว ต้องผ่านความร้อนพาสเจอร์ไรส์ หลังจากนั้นนำไปเพาะเชื้อ รอผลเพาะจนเชื้อไม่ขึ้นแล้ว และยืนยันว่าปลอดภัย จึงนำไปให้เด็กป่วยที่โรงพยาบาลรับประทานได้

สำหรับสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทยนั้น ทางศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่ 23.1% แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งเมื่อเทียบกับในอดีต แต่ยังอยู่ในอันดับต่ำที่สุดของประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)  โดยใน สปป.ลาว มีอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 40.4% กัมพูชา 65.2% อินโดนีเซีย 41.5% เวียดนาม 24.3% ฟิลิปินส์ 34% และ มาเลเซีย 29%

 

 

Avatar photo