World News

สหรัฐถอนตัว ‘ข้อตกลงปารีส’ ทางการ ‘ไบเดน’ ลั่นชนะเลือกตั้งจะกลับเข้าไปใหม่

สหรัฐถอนตัวจาก “ข้อตกลงปารีส” อย่างเป็นทางการแล้ว ด้าน “โจ ไบเดน” ประกาศจะกลับเข้าไปใหม่ หากชนะการเลือกตั้ง 

วานนี้ (4 พ.ย. 63) สหรัฐถอนตัวออกจาก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นประเทศเดียวและประเทศแรกจากเกือบ 200 ประเทศผู้ลงนาม ที่ถอนตัวออกจากข้อตกลงที่มีเป้าหมายรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทรัมป์13 e1604157755683

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี สหรัฐ ประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ว่า เขาจะถอน สหรัฐ ออกจาก ข้อตกลงปารีส ซึ่งระบุว่าประเทศผู้ลงนามสามารถยื่นคำขอถอนตัวอย่างเป็นทางการหลังมีผลบังคับใช้ครบ 3 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 และการถอนตัวจะมีผลหลังส่งจดหมายแสดงเจตจำนงครบปี ซึ่งหมายความว่า สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวเมื่อวานนี้

ทรัมป์ประกาศการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเพียงไม่นานหลังจากเขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงนี้ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ

นอกจากนั้น รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ ยังยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกกำหนดในยุคบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐคนก่อนหน้า เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมถ่านหินด้วยการอนุญาตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่อากาศได้มากขึ้น

ข้อตกลงปารีส ไบเดน

อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน ผู้ลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งสหรัฐ 2020 ให้สัญญาว่า สหรัฐจะกลับเข้าสู่ ข้อตกลงปารีส โดยเร็วที่สุด หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ถ้าหากเขาชนะการเลือกตั้งเหลือทรัมป์

นอกจากนี้ ไบเดนมีแผนจะใช้เงินลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศรวม 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อให้อเมริกาสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 100% ในอีก 15 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ หากโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้ง เขาสามารถยื่นเรื่องถึงสหประชาชาติ (UN) หลังจากพิธีสาบานตนในวันที่ 20 มกราคม 2564 ว่า อเมริกาจะขอกลับเข้าสู่ข้อตกลงอีกครั้ง โดย 30 วันหลังจากนั้น สหรัฐ จะกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ

รายงานข่าวเพิ่มเติมเปิดเผยว่า ในรัฐบาลระดับเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐนิวยอร์กยืนยันว่า ตนคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐ พร้อมแสดงความยึดมั่นในการปกป้องข้อตกลงปารีส ในการต่อสู้ระยะยาวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change)

“ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ผู้ว่าการรัฐ 25 คน จากทั้ง 2 พรรค ของสมาพันธ์สภาพภูมิอากาศสหรัฐฯ (@USClimate) ยืนยันในภาระหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และ #ข้อตกลงปารีส พร้อมกระตุ้นให้รัฐบาลกลางเข้าร่วมข้อตกลงนี้อีกครั้ง และกลับคืนสู่การเป็นผู้นำด้านการรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศระดับโลก” แอนดรูว์ คัวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กรีทวีตข้อความของสมาพันธ์สภาพภูมิอากาศแห่งสหรัฐฯ (USCA) ซึ่งเป็นความร่วมมือของผู้ว่าการรัฐทั้งจากพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ที่ยึดมั่นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ ข้อตกลงปารีส

ด้านบิล เดอ บลาซิโอ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า รัฐบาลกลางสหรัฐ อาจหันหลังให้ข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส แต่นครนิวยอร์กไม่มีวันทำอย่างนั้น เรามีหน้าที่ทำเพื่ออนาคตของโลก ลูกหลานของเราหวังพึ่งพาเราอยู่”

นอกจากนี้ เดอ บลาซิโอยังรีทวีตข้อความของ เอ็นวายซีไคลเมต (NYClimate) องค์กรที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเสริมสร้างชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของนครนิวยอร์ก โดยข้อความดังกล่าวระบุว่า “สหรัฐฯ ถอนตัวจาก #ข้อตกลงปารีส อย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลกลางจะตัดสินใจทำอะไร เราจะเมินเฉยต่อวิกฤตสภาพอากาศที่อยู่ตรงหน้าเราแล้วในขณะนี้ไม่ได้”

fig 03 08 2020 07 48 22 e1596440964819

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรอง ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558 โดยเป็นตราสารกฎหมายที่รับรองภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ฉบับล่าสุด ต่อจากพิธีสารเกียวโตและข้อแก้ไขโดฮา เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้นสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อตกลงปารีส มุ่งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามในการขจัดความยากจน ดังนี้

1.ควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม โดยคำนึงว่าการดำเนินการตามนี้ จะลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ

2.เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการสร้างภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยไม่กระทบต่อการผลิตอาหาร

3.ทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนที่มีความสอดคล้องกับแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และการพัฒนาให้มีภูมิต้านทานและความสามารถในการฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo