Business

เตรียมบอกลา ‘LIBOR’ สู่ ‘THOR’ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่ธุรกิจควรรู้

THOR อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่ธุรกิจต้องรู้ หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย ประกาศไม่รับรอง อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเดิม LIBOR หลังสิ้นปี 2564

หลังจาก Financial Conduct Authority (FCA) หน่วยงานกำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย London Interbank Offered Rate (LIBOR) ประกาศ จะไม่รับรองอัตราดอกเบี้ย LIBOR หลังสิ้นปี 2564 เป็นต้นไป จึงมีความเสี่ยงว่าอัตราดอกเบี้ย LIBOR อาจยุติการใช้อย่างถาวร ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องเตรียมทำความรู้จักกับ THOR อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่จะเข้ามาใช้แทนสำหรับประเทศไทย

THOR อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การประกาศไม่รับรองดอกเบี้ย LIBOR จะส่งผลกระทบ ต่อธุรกรรมการเงิน ที่อ้างอิงอัตราดอกเบี้ย LIBOR ทั้งทางตรง และทางอ้อม ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

ในกรณีของไทย นอกจากการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR อ้างอิงในธุรกรรมทางการเงินแล้ว อัตราดอกเบี้ย LIBOR ยังเป็นองค์ประกอบ ในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง Thai Baht Interest Rate Fixing (THBFIX) ซึ่งถูกใช้อ้างอิงในการกำหนดราคา ของธุรกรรมการเงิน รวมถึงตราสารอนุพันธ์อย่างแพร่หลาย

ดังนั้น การยุติการใช้อัตราดอกเบี้ย LIBOR ดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อตลาดการเงินไทย และเป็นประเด็นที่ผู้ร่วมตลาด ควรให้ความสำคัญ และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้น

ด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับ ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จัดตั้ง “คณะทำงานเตรียมความพร้อมของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการยุติการใช้ LIBOR” เพื่อหาแนวทางรองรับ กรณียุติการใช้ LIBOR สำหรับตลาดการเงินไทย เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ ของระบบการเงินไทยต่อไป

ด้าน ศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญ ของหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน ของหลายประเทศ ในช่วงที่เตรียมจะต้องบอกลา LIBOR ก็คือ การพัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ขึ้นมาใช้ทดแทน โดยขณะนี้ สหรัฐฯ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ต่างก็พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะข้ามคืน ในรูปสกุลเงินของแต่ละประเทศขึ้น

money ๒๐๐๙๑๐ 0

สำหรับไทย ธปท. ได้พัฒนาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ระยะข้ามคืน ตัวใหม่ที่ชื่อว่า THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ขึ้นเพิ่มเติมเช่นกัน จากที่ในปัจจุบัน ตลาดเงินของไทยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวหลัก ก็คือ อัตราดอกเบี้ย BIBOR และ THBFIX

จุดเด่นของอัตราดอกเบี้ย THOR จะอยู่ที่ความสามารถ ในการสะท้อนภาวะสภาพคล่องของเงินบาท ในตลาดเงินของไทย และเคลื่อนไหว สอดคล้องกับ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มากกว่าอัตราดอกเบี้ย THBFIX ที่จะผันผวนตามสภาพคล่อง ของเงินดอลลาร์ฯ และได้รับผลกระทบ จากการสิ้นสุดลงของ LIBOR

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ย THOR ยังถูกคำนวณขึ้นมาจาก ธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงในตลาด Repo ภาคเอกชนของไทย (สูงกว่า 1 แสนล้านบาทต่อวัน) ซึ่งแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ย BIBOR ที่มาจากการสอบถามแต่ละธนาคาร ในแต่ละวัน และไม่ค่อยมีธุรกรรม ที่อ้างอิง BIBOR มากนัก

สำหรับภาคธุรกิจแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ น่าจะมีความคุ้นชินกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX มากกว่า บริษัทขนาดกลางและเล็ก ที่จะมีความคุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ย MLR เป็นหลัก

ดังนั้น ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจรายใหญ่ ควรตรวจสอบสัญญาสินเชื่อเดิม ที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย THBFIX และติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อปรับข้อความในสัญญาสินเชื่อที่อ้างอิง THBFIX ให้รองรับการเปลี่ยนมาใช้ Fallback THBFIX ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ปี 2565

ทั้งนี้ Fallback THBFIX เป็นอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้แทน THBFIX หลังการสิ้นสุดลง ของอัตราดอกเบี้ย LIBOR แต่ก็จะมีผลเฉพาะกับสัญญาสินเชื่อเดิม ที่ยังไม่หมดอายุลงเท่านั้น

​นอกจากนี้ ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ต้องเตรียมทำความรู้จักกับ อัตราดอกเบี้ย THOR ที่คาดว่าจะใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ในสัญญาสินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ โดยน่าจะทยอยเห็นแนวทางการพัฒนาการใช้ดอกเบี้ย THOR มากขึ้นในช่วง 1-3 ปีข้างหน้านับจากนี้

อย่างไรก็ดี ความนิยมแพร่หลายของ THOR ในระยะถัดไป คงต้องฝากความหวังไว้ที่ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธปท. หน่วยงานของทางการ สถาบันการเงิน ตลอดจนภาคธุรกิจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo