Finance

ตามคาด! ที่ประชุม กนง.มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50%

มติ กนง. 5 สิงหาคม 2563 เอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ชี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการป้องกัน “โควิด” ลั่น “ดอกเบี้ย” ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป!

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มติ กนง. ครั้งที่ 5/2563 มีมติเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ตามการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด” และ การทยอยฟื้นตัว ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยง จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอก 2

ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ ส่วนเสถียรภาพการเงิน มีความเปราะบางมากขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

มติ กนง.

ทั้งนี้ กนง. เห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก ตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้ง มาตรการการเงิน และ สินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และ จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อ กลับสู่กรอบเป้าหมาย และ ลดความเสี่ยง ต่อเสถียภาพระบบการเงิน

“คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือน และ ธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และ เร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง ให้ตรงจุดและทันการณ์” นายทิตนันทิ์ กล่าว

ที่ประชุม กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดในไทย และ การทยอยฟื้นตัว ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่า จะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม จะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมาก ในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ขณะที่ การส่งออกเริ่มฟื้นตัว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนด้านบริการนั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติ มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ แต่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่ง มาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

“กนง. เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/63 ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิม แต่ก็ยังหดตัวอยู่ ส่วนตัวเลขคงต้องรอ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ชี้แจงในช่วงกลางเดือนนี้” นายทิตนันทิ์ กล่าว

มติ กนง.
ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า กนง. ได้มีการหารือกันภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ ได้ดำเนินนโยบายใส่สภาพคล่องลงไปในระบบ ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ และ ทองคำ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งปัญหาสภาพคล่องจำนวนมาก ในระบบการเงินโลกนี้ถือเป็นความเสี่ยง ทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามากดดันค่าเงินบาท

กนง. จึงเห็นว่า จำเป็นต้องติดตามดูแล ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่า จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ครึ่งหลังของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่า จะยังเกินดุล แต่เป็นการเกินดุลที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับในอดีต เป็นไปตามปัจจัยเรื่องราคาน้ำมัน และ การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น แรงกดดันค่าเงินบาทจากดุลบัญชีเดินสะพัดจึงลดลง

ส่วนระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันได้ลดต่ำมามาก เมื่อเทียบกับในอดีต ต่ำเป็นประวัติการณ์ และถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยทิศทางของเศรษฐกิจหลังจากนี้ จะขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัว เน้นเรื่องการจ้างงาน จำเป็นต้องประสานนโยบายทั้งมาตรการด้านการคลัง ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินที่ต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยในส่วนนโยบายการเงินยืนยันว่ายังมีกระสุนเพียงพอ และพร้อมที่จะนำออกมาใช้ตามความจำเป็น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo