Economics

กฟผ.โล่ง จ่ายไฟภาคใต้ไม่สะดุด หลังแหล่งก๊าซ JDA หยุดจ่าย 10 วัน

กฟผ. ขอบคุณทุกภาคส่วน ร่วมบริหารจัดการระบบไฟฟ้าภาคใต้ผ่านฉลุย ผ่านพ้นช่วงแหล่งก๊าซฯ เจดีเอ หยุดจ่ายก๊าซฯ ประจำปี

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงกรณี แหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA-A18) หยุดจ่ายก๊าซ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 7 กันยายน รวมระยะเวลา 10 วัน เพื่อบำรุงรักษาประจำปี

chana1

ทั้งนี้ ส่งผลให้ปริมาณก๊าซฯ หายไปจากระบบวันละ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุต(ลบ.ฟุต) ทำให้โรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิตรวม 1,476 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหลักของภาคใต้ ไม่สามารถเดินเครื่องได้  โดยกฟผ. ได้ปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ เป็นน้ำมันดีเซลแทน และเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ด้วยน้ำมันเตา เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้

ล่าสุดการซ่อมบำรุงรักษาดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนเรียบร้อย และสามารถจ่ายก๊าซธรรมชาติเข้าระบบได้ตามปกติ เมื่อเวลา 07.05 น. เมื่อวานนี้ (7 ก.ย.)

ในช่วงเวลาดังกล่าว โรงไฟฟ้าจะนะใช้น้ำมันดีเซลไปประมาณ 9.5 ล้านลิตร และโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันเตาไปประมาณ 7.2 ล้านลิตร โดยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ หรือพีค (Peak) เกิดขึ้นเมื่อเวลา 19.16 น. ของวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,365 เมกะวัตต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ไม่เกิน 2,400 เมกะวัตต์

สภาพระบบไฟฟ้าภาคใต้ในช่วงเวลาดังกล่าวโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีความมั่นคงเพียงพอ และสามารถรักษาคุณภาพไฟฟ้าได้ตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านความถี่และแรงดัน ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าภาคใต้แต่อย่างใด

“กฟผ. ขอขอบคุณความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้า ทั้งทางด้านกำลังผลิต ด้านการส่งจ่ายไฟฟ้า ด้านเชื้อเพลิง และด้านบุคลากร ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการ และมีคุณภาพตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือ ขอขอบคุณประชาชนทุกท่านที่ร่วมมือร่วมใจกันใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์พลังงานของประเทศ ทำให้สามารถดำเนินการตามมาตรการรองรับต่าง ๆ ได้ตามแผนที่กำหนดอย่างมีประสิทธิภาพและผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

ก่อนหน้านี้ กฟผ. ได้เปิดเผยถึง มาตรการรองรับการหยุดจ่ายก๊าซฯ  ซึ่งประกอบด้วย

  • ด้านระบบผลิตไฟฟ้า

เตรียมการให้โรงไฟฟ้าจะนะ เดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงสำรองคือน้ำมันดีเซล และโรงไฟฟ้ากระบี่เดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา ซึ่งได้ทดสอบระบบเพื่อเตรียมความพร้อมของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งประสานการไฟฟ้ามาเลเซีย เพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน

  • ด้านระบบส่งไฟฟ้า

ตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าและอุปกรณ์สำคัญให้พร้อมใช้งาน โดยจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือสายส่งที่เชื่อมโยงระหว่างภาคกลาง – ภาคใต้

  • ด้านเชื้อเพลิง

สำรองน้ำมันเต็มความสามารถจัดเก็บก่อนเริ่มหยุดจ่ายก๊าซฯ ซึ่งปริมาณน้ำมันจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ตลอดช่วงการหยุดจ่ายก๊าซ รวมทั้งสามารถรองรับ หากการทำงานล่าช้าได้มากกว่า 10 วัน

  • ด้านบุคลากร

จัดเตรียมทีมฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานกับ ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับ หากเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากที่คาดการณ์หรือไฟฟ้าดับ

jda134

ทั้งนี้ JDA  ถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย  ตั้งอยู่บริเวณที่ไทย และมาเลเซีย อ้างสิทธิเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร

ในปี 2512 ไทยและมาเลเซีย เปิดหารือเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว และได้เจรจาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2522 จึงได้มีการลงนามใน MOU ตกลงร่วมกันพัฒนา และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชื่อใหม่ ของพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวตาม MOU ว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (Malaysia–Thailand Joint Development Area : MTJDA)

ต่อมาในปี 2533 ได้มีการลงนามในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลมาเลเซีย ว่าด้วยธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับ การจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority : MTJA) ในปี 2535 โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล ที่สวมสิทธิ และความรับผิดชอบแทนรัฐบาลไทย และรัฐบาลมาเลเซีย ในการสำรวจและแสวงประโยชน์จากปิโตรเลียม ในพื้นที่พัฒนาร่วม ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract, PSC) โดยความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ

ทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์จากการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน  (50:50)

ในปี 2548 ได้เริ่มดำเนินการผลิต (First Gas) ในแหล่ง A-18 เป็นลำดับแรก จากนั้นในปี 2552 ได้เริ่มดำเนินการผลิตในแหล่ง B-17 และต่อมาในปี 2559 ได้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติ ในแปลง B-17-01

JDA ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศไทย และเป็นตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเพื่อนำทรัพยากรทางทะเลขึ้นมาใช้ ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo