Green Energy

‘ทีมบำรุงรักษา กฟผ.’ เบื้องหลังความสำเร็จ ‘โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา’

เรื่องราวเบื้องหลังการทำงานที่น่าสนใจ ของทีมบำรุงรักษา “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” รวมถึงบทบาท ในอนาคตของ “โรงไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน” ที่มาช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ให้กับกระบวนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มากยิ่งขึ้น

โรงไฟฟ้า คือเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ที่มีความจำเป็นจะต้องเดินเครื่องตลอดเวลา เพื่อให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า ได้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จึงให้ความสำคัญกับขั้นตอน “การดูแลบำรุงรักษา โรงไฟฟ้า” ในส่วนต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลัก ของงานเดินเครื่อง และบำรุงรักษา (Operation & Maintenance : O&M) หน้าที่ ที่เปรียบเสมือน “ทีมหมอ” ที่คอยดูแลสุขภาพ โรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา 03

ความสำเร็จของงานบำรุงรักษา “โรงไฟฟ้าลำตะคอง ชลภาวัฒนา” ผ่านการบอกเล่าเรื่องราว จากฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า และฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล

หากกล่าวถึงงานด้านการบำรุงรักษาของ กฟผ. “ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า และฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล”  ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลัก ในการบำรุงรักษา ด้านไฟฟ้าและด้านเครื่องกลให้กับโรงไฟฟ้า กฟผ. ทุกประเภท

ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและกังหันก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทน ทุกรูปแบบ ซึ่งนอกจากการให้บริการบำรุงรักษาแก่โรงไฟฟ้าทั้งหมดของ กฟผ. แล้ว ยังมีการให้บริการในรูปแบบธุรกิจ สำหรับลูกค้าโรงไฟฟ้าเอกชนอีกด้วย

สำหรับโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ถือเป็นหนึ่งใน โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ของ กฟผ. ที่ประกอบไปด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม

  • โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ขนาด 1,000 เมกะวัตต์  มีลักษณะเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย
  • โรงไฟฟ้าพลังลม จำนวน 14 ต้น ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 26.5 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้า

ภารกิจในการบำรุงรักษา ถือเป็นหัวใจสำคัญของโรงไฟฟ้าลำตะคอง ชลภาวัฒนา เป็นอย่างมาก เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา ในการเดินเครื่อง และผลิตกระแสไฟฟ้า

ตัวโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ถือว่าเป็นเสมือนแบตเตอรี่สำรองขนาดใหญ่ ที่สามารถเก็บกระแสไฟฟ้า ในกรณีที่ กฟผ. มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมระบบ ศักยภาพรอบด้านของงานบริการด้านการบำรุงรักษา

ในฐานะที่ กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า ที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน มากกว่า 51 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะมีความเชี่ยวชาญในงานเดินเครื่อง และบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

แน่นอนว่า ไม่ได้มีเพียงแค่งานบำรุงรักษาด้านไฟฟ้า และด้านเครื่องกลเท่านั้น หากแต่ยังมีหน่วยงานบำรุงรักษาในด้านอื่น ๆ อาทิ ด้านโยธา ด้านงานเคมีโรงไฟฟ้า ด้านงานอะไหล่ ซึ่งมีงานผลิตอะไหล่เครื่องจักร และอุปกรณ์โรงไฟฟ้า โดยมีโรงซ่อม ทดสอบ ตรวจสอบ และปรับสมดุลเครื่องจักรหมุน (Rotor) ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ ยังมีงานสนับสนุนวิศวกรรม และอื่น ๆ เช่น การให้คำปรึกษาปัญหาด้านต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้า พร้อมแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้อง และงานทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร ประเมินสภาพเครื่องจักร และเครื่องมือ อุปกรณ์โรงไฟฟ้า ฯลฯ ภายใต้ศักยภาพของทีมงานระดับมืออาชีพ พร้อมองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมมายาวนาน รวมถึงระบบการทำงานที่ทันสมัยและได้มาตรฐานระดับสากล

โรงไฟฟ้า

กฟผ. ยังได้มีการจัดตั้ง ศูนย์ทดสอบ และรับรองมาตรฐานอาชีพ (Competency Certification Center : CCC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบ และรับรองความสามารถบุคลากรขององค์กร ให้มีมาตรฐานในระดับสากล รวมทั้งอบรมความรู้แบบครบวงจร โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากร ด้านงานเดินเครื่อง และบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีความรู้ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ

ทั้งยังมีศูนย์ฝึกอบรมในด้านอื่น ๆ ที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ช่วยเสริมศักยภาพการทำงาน ให้กับบุคลากรในสายงานบำรุงรักษาของ กฟผ. ได้อย่างดีเยี่ยม อาทิ ศูนย์พัฒนางานเชื่อม และทดสอบฝีมือช่างเชื่อมสากล ศูนย์มาตรวิทยา และสอบเทียบเครื่องมือวัด กฟผ. (Metrology and Calibration Center) เป็นต้น

ความแตกต่าง บำรุงรักษา “โรงไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน”

การบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน  ที่เป็นเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก ดูเหมือนจะง่ายกว่า โรงไฟฟ้าพื้นฐาน ที่มีขนาดใหญ่  แต่ก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป เพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าว มีปริมาณยูนิตที่มากกว่าโรงไฟฟ้าพื้นฐาน ทำให้รูปแบบในการบริหารจัดการมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไป

สำหรับในส่วนของเทคโนโลยี ที่ใช้ในการบำรุงรักษาทั้งทางด้านไฟฟ้า และเครื่องกลนั้น อาจจะไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้ แต่สิ่งสำคัญ ที่ถือได้ว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ บุคลากรที่ทำงานด้านการบำรุงรักษา

โรงไฟฟ้า

ตัวอย่างเช่น งานเดินเครื่อง และบำรุงรักษา โรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคองชลภาวัฒนา ทีมบุคลากรที่ทำงานด้านการบำรุงรักษาไฟฟ้า จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้รับฝึกฝนทักษะเฉพาะด้าน อาทิ ความรู้ความสามารถทางด้านไฟฟ้ากำลัง, ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลัง, ระบบควบคุมกังหัน ผสมผสานกับการทำงานบนที่สูง

สภาพร่างกายของทีมบุคลากรต้องได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เพราะจะต้องทำงานอยู่บนที่สูงเหนือ จากระดับพื้นดินถึง 90 เมตร ทีมบุคลากรดังกล่าว จะต้องทำงานแข่งกับเวลา

เมื่อใดที่กังหันลมเกิดปัญหา ทีมงานจะต้องวางแผน วิเคราะห์ปัญหา เข้าแก้ไขอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้กังหันทุกยูนิต พร้อมที่จะผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา

เครื่องมือในการทำงานก็จะต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เฉพาะด้าน กับการทำงานบนที่สูง รวมถึงการฝึกอบรมเฉพาะด้าน อาทิ การอบรมการปฏิบัติงานบนที่สูง ด้วยเทคนิคการใช้เชือก การอบรมความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง รวมถึงการช่วยชีวิตบนที่สูง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะต้องมีการนำระบบการพยากรณ์อากาศเข้ามาใช้ประกอบในการทำงาน เพื่อหลีกเลี่ยงฝน พายุ หรือฟ้าผ่า

โรงไฟฟ้า

เทคโนโลยีก้าวหน้า ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนหลายแห่ง โดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม (กังหันลม) ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  ส่งผลให้ราคาของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีแนวโน้มลดลงไปเรื่อย ๆ

โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา คือ หนึ่งในตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีทันสมัย มาใช้ในการบริหารจัดการ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา นั่นคือ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) ซึ่งโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ  และเป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบหนึ่ง ที่มีต้นทุนต่อหน่วยไฟฟ้าต่ำที่สุด

โรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังเป็นโรงไฟฟ้า ที่สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าได้ เนื่องจากส่งเสริมให้เกิดการนำพลังงานหมุนเวียน ที่มีความไม่แน่นอนมาผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น โดยจะนำกระแสไฟฟ้าจากระบบการผลิตของประเทศ ในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย คือ ช่วงหลังเที่ยงคืน จนถึงเช้า มาใช้สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ขึ้นไปเก็บพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบน ที่สร้างขึ้นใหม่ แล้วปล่อยน้ำลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในแต่ละวัน

ทั้งยังมีระบบกักเก็บพลังงานด้วย เซลล์เชื้อเพลิง ร่วมกับ พลังงานลม (Wind Hydrogen Hybrid System) นับเป็น เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ ที่ กฟผ. ได้นำนวัตกรรมชิ้นนี้มาใช้เป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย

การกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบก๊าซไฮโดรเจนนี้ เมื่อกังหันลมผลิตไฟฟ้าได้มากเกินความต้องการของระบบ ไฟฟ้าจะถูกนำไปจ่ายให้กับเครื่อง Electrolyzer หรือเครื่องแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งจะทำหน้าที่แยกน้ำ (H2O) ที่เครื่อง Electrolyzer ออกเป็นก๊าซออกซิเจน (O2) และก๊าซไฮโดรเจน (H2)

จากนั้น ก๊าซไฮโดรเจนจะถูกนำไปกักเก็บในถังบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ก่อนนำก๊าซไฮโดรเจนมาผลิตไฟฟ้า โดยผ่านเซลล์เชื้อเพลิง เพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง

ส่วนมากแล้วกังหันลมมักจะผลิตไฟฟ้าได้มากในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าต่ำ จึงนำพลังงานที่ผลิตได้นี้มาเก็บไว้ โดยมีโครงการนำร่องที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อจ่ายไฟให้กับศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง

โรงไฟฟ้า

ตั้งเป้าพัฒนางานบำรุงรักษา โรงไฟฟ้า

การให้บริการด้านงานบำรุงรักษา ที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน ทั้งในด้านความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม นับเป็นเป้าหมายหลักที่ กฟผ. ยึดมั่นมาโดยตลอด และจะยังดำเนินต่อไปในอนาคต

ความท้าทายสำคัญของทีมงานบำรุงรักษาของ กฟผ. คือ การดำเนินงาน เพื่อให้โรงไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงสุด ในด้านการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งในแง่ของธุรกิจการบริการก็จะต้องก่อให้เกิดผลกำไร ตามที่ลูกค้าต้องการ ลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ลดระยะเวลาในการซ่อมบำรุง รวมไปถึงการลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีแผนในการพัฒนาระบบการทำงาน และการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo