World News

‘รัสเซีย’ ไม่พบหลักฐานว่าจีนปกปิดโควิด-19 ด้าน ‘WHO’ เชื่อไวรัสไม่ได้มาจากแล็บ

“โฆษกรัสเซีย” เผยไม่พบหลักฐานว่า “จีน” ปิดบังข้อมูลโควิด-19 ด้าน “WHO” ก็ไม่พบหลักฐานว่าไวรัสเกิดจากห้องแล็บ เชื่อเป็นโรคจากสัตว์สู่มนุษย์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (23 เม.ย.) ดิมิทรี เพสคอฟ (Dmitry Peskov) โฆษกทำเนียบเครมลินของรัสเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เครมลินไม่พบเจอหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า จีนได้ปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

เพสคอฟกล่าวหลังถูกถามถึงกรณีที่อีริค ชมิตต์ (Eric Schmitt) อัยการสูงสุดรัฐมิสซูรีของสหรัฐ ฟ้องร้องรัฐบาลจีน เมื่อวันอังคาร (21 เม.ย.) โดยกล่าวหาว่าจีนปกปิดอันตรายของไวรัสโควิด-19 และดำเนินการไม่มากเพียงพอที่จะชะลอการแพร่ระบาดของโรค

เพสคอฟเสริมว่า โรคโควิด-19 เป็นความท้าทายร่วมกันของมนุษยชาติทั้งมวล เศรษฐกิจโลก และทุกประเทศ ซึ่งวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เชื่อมั่นว่าการเอาชนะโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอย่างค่อยเป็นค่อยไปต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกัน

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ที่ก่อโรคโควิด-19 มีต้นกำเนิดจากสัตว์ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ไวรัสที่ถูกควบคุมหรือสร้างขึ้นมา

“คณะนักวิจัยจำนวนมากได้ตรวจสอบลักษณะจีโนมของไวรัสฯ และพบว่าไม่มีหลักฐานใดสนับสนุนว่าไวรัสถูกสร้างขึ้นในห้องปฏิบัติการ” WHO กล่าวผ่านรายงานสถานการณ์รายวัน โดยเน้นย้ำว่าหากเป็นไวรัสที่ถูกสร้างขึ้นจริง ลำดับจีโนมจะต้องมีองค์ประกอบที่มนุษย์รู้จักปะปนอยู่ แต่ “กรณีนี้ไม่ใช่”

WHO เผยว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ถูกค้นพบช่วงต้นเดือนมกราคม และลำดับพันธุกรรมของมันจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 11-12 มกราคม

ลำดับพันธุกรรมเต็มรูปแบบของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบในมนุษย์ช่วงแรก และลำดับพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ได้จากผู้ป่วยในจีนและทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีต้นกำเนิดทางนิเวศในหมู่ค้างคาว

แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสัตว์ชนิดใดเป็นพาหะตัวกลาง แต่หลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากสัตว์สู่มนุษย์ (zoonotic)

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการสืบสวนสอบสวนจำนวนมาก เพื่อทำความเข้าใจแหล่งกำเนิดของการแพร่ระบาดในจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

Avatar photo