CEO INSIGHT

SSPกางแผนที่โลกเดินหน้าลงทุนโซลาร์เซลล์

5 01

ปี 2551 ที่กระทรวงพลังงานปักนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ขณะนั้นได้วางมาตรการสนับสนุนโดยให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์)กับผู้ผลิต 8 บาทต่อหน่วยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติ ซึ่ง ณ ตอนนั้นอยู่ที่ 2.5 บาทต่อหน่วย ทำให้ผู้ผลิตได้รับค่าไฟฟ้ารวม 10-11 บาทต่อหน่วย

อัตราแอดเดอร์ ณ วันนั้นมาถึงการสนับสนุนค่าไฟฟ้าตามต้นทุนจริง (Feed in Tariff ) เหลือ 4.12-6.96 บาทต่อหน่วยตามขนาดและประเภทในปัจจุบัน ระยะเวลาผ่านไป 10 ปีด้วยมาตรการไฟฟ้าที่ดึงดูดและการลงทุนที่ต่ำลงจาก 100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เหลือ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ทำให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลล์ จนถึง 31 พฤษภาคม 2561 จำนวน 7,289 ราย กำลังการผลิต 3,245 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไปถึงบิ๊กเบิ้ม และถือว่าไทยเป็นผู้นำที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนี้ที่พันธมิตรหลายประเทศพร้อมร่วมลงทุน

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP น้องใหม่ในวงการพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาก็เติบโตไม่แพ้โซล่าเซลล์  จากโครงการที่จังหวัดลพบุรี กำลังผลิต 52 เมกะวัตต์เพียงโครงการเดียว ปัจจุบันมีโครงการทั้งในและต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

145810

เดินหน้าลงทุนทุกพื้นที่

นายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จนถึงปี 2563  บริษัทมีกำลังผลิตในมือ 194 เมกะวัตต์ สำหรับในประเทศไทยนอกจากที่จังหวัดลพบุรีแล้วก็มีโครงการโซล่าเซลล์ที่ทำให้กับองค์การทหารผ่านศึก บนพื้นที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์  จะแล้วเสร็จในปี  และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือโซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) ในโรงงานและอาคารหลายแห่ง รวม 7 เมกะวัตต์ เช่น บริษัทดูโฮม จำกัด ผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่

“เราทำงานหนักว่าคนอื่น เพราะถือเป็นผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนรายเล็ก โครงการที่ลพบุรีซึ่งเป็นโครงการแรกที่บริษัทตั้งใจทำให้ดีที่สุดเป็นพรีเมี่ยมเกรด โครงการนี้พร้อมจ่ายไฟฟ้าตลอดเวลาสามารถเดินเครื่องได้ 95.5-99.7%  ทำให้ได้รับความเชื่อถือ โครงการอื่นๆจึงตามมา เราไม่กลัวว่าเป็นบริษัทเล็กแล้วเสี่ยงจะถูกกลืน เพราะในมหาสมุทรย่อมมีทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ ขอเพียงต้องไม่หยุดนิ่ง”

6 01

 

 

บริษัทเสริมสร้าง พาวเวอร์ จึงเดินหน้าลงทุนทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่นที่มี 5 โครงการแล้ว กำลังผลิตรวม 116 เมกะวัตต์มูลค่าโครงการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการฮิดะกะ จังหวัดฮอกไกโด กำลังการผลิตตั้ง 21 เมกะวัตต์  โครงการยามากะ จังหวัดคุมาโมโต้ กำลังการผลิตตั้ง 34.5 เมกะวัตต์  โครงการโซเอ็น อำเภอมาชิกิ จังหวัดคุมาโมโต้ กำลังการผลิตตั้ง 8 เมกะวัตต์  โครงการลีโอ และโครงการยามากะ 2 รวมกำลังการผลิต ติดตั้ง 52.5 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโครงการในประเทศมองโกเลีย 1 โครงการ ได้แก่ โครงการ Khunsight Kundi กำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท

10 1

โดยหลังจากนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสจากโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาสำหรับไตรมาส 2 ของปี 2560 จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการฮิดะกะที่เริ่มซื้อขายไฟเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ไตรมาส 3 มาจากโครงการโซเอ็น ส่วนไตรมาส 4 จะมาจากโครงการขององค์การทหารผ่านศึก และไตรมาส 1 ของปี 2562 จะเป็นโครงการของมองโกเลีย  ส่วนต่อๆไปจะรับรู้รายได้จากโครงการที่เหลือในญี่ปุ่นที่จะทะยอยเข้าระบบเพิ่มเติม และโครงการใหม่ที่กำลังรอข้อสรุป

14 2

ดูเหมือนบริษัทเสริมสร้างจะปักหลักการลงทุนในญี่ปุ่น นายวรุตม์ ปฏิเสธ พร้อมย้ำว่า เรากลางแผนที่โลก ที่ไหนมีโอกาสจะเข้าไปในทุกพื้นที่ แต่จะตัดสินใจลงทุนจากความชัดเจนของนโยบายโซล่าเซลล์ของประเทศนั้น เช่น ในญี่ปุ่น ลงทุนเพราะรัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิชิ เมื่อปี 2554 ทำให้ความต้องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอยู่ที่ระดับกว่า 1 แสนเมกะวัตต์ มีนักลงทุนสมัครขายไฟฟ้ากว่า 80,000 เมกะวัตต์  ประกอบกับบริษัทมีพันธมิตรและแหล่งเงินทุนที่ดีในญี่ปุ่น ทำให้โครงการได้ข้อสรุปและมีความก้าวหน้าตามลำดับ

17 2

มองโกเลียศักยภาพสูง

พันธมิตรญี่ปุ่นนี่เองที่ทำให้บริษัทได้เข้าไปลงทุนที่มองโกเลียด้วย  เป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ที่ญี่ปุ่นเข้าไปสนับสนุน เนื่องจากมองโกเลียมีปัญหามลภาวะอันดับ 3 ของโลกจากการใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินแบบเก่า จึงต้องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ที่ผ่านมามีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ 300-400 เมกะวัตต์ มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจสมัครขายไฟฟ้าเข้าระบบถึง 700 เมกะวัตต์

นายวรุตม์ ระบุว่า ที่มองโกเลียถือว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจ เพราะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง มีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ ซึ่งจะย้ายไปใช้งานในสิ้นปีนี้  ทำให้เมืองขยายตัวตาม ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่รอบๆสนามบินเติบโต จากความต้องการใช้ทั้งประเทศปัจจุบัน 1,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ที่มองโกเลียแม้จะเป็นเมืองหนาวอุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส แต่กลับผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ได้ดีในฤดูหนาว เพราะมีค่าแสงดีมาก เมื่อหันทิศทางของแผงตั้งฉาก 45 องศา ทำให้หิมะไม่เกาะแผง และยังเกิดการสูญเสียต่ำ

“ศักยภาพของมองโกเลียทำให้เราจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม และที่นี้ยังมีต้นทุนไม่สูงจนเกินไป  เมกะวัตต์ละ 46-47 ล้านบาท ค่าเช่าที่ดินต่อพื้นที่ 300 ไร่ไม่ถึงแสนบาทต่อปี ขณะที่เราได้ค่าไฟฟ้าเหมาะสมที่ 5.40 บาทต่อหน่วย  ทางด้านภาวะการเมืองก็ไม่น่ากังวล เพราะเปิดประเทศแล้ว มีสถาบันการเงินและนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนหลายโครงการ รวมถึงนักลงทุนไทย จึงถือว่าไม่มีความเสี่ยง”

พร้อมสรุปลงทุนในเวียดนามเดือนนี้

นอกจากญี่ปุ่นและมองโกเลียแล้ว ยังมองหาลู่ทางการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะที่เวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันต้นทุนต่างๆก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์อย่างชัดเจน ซึ่งจะได้ข้อสรุปในเดือนนี้

“ขณะนี้เรามีเงินพร้อมลงทุนในมือ 2,000 ล้านบาท ที่รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทยและทหารไทย และมีหลายสถาบันการเงินที่พร้อมปล่อยกู้ เนื่องจากบริษัทแม่ คือ บริษัทเสริมสร้าง มีอัตราหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E ) ต่ำที่ระดับ 0.4 เท่านั้น และในอนาคตจะไม่จำกัดเฉพาะการลงทุนโซล่าเซลล์เท่านั้น พลังงานหมุนเวียนทุกประเภทเราสนใจหมด”

145810 1

นายวรุตม์ มองว่า โซล่ารูฟท็อป มีอนาคตสดใสแน่นอนไม่เฉพาะในไทยเท่านั้นแต่เป็นตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม และโครงการบ้านจัดสรรสนใจติดตั้งบนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง เนื่องจากได้ค่าไฟฟ้าในราคาถูกกว่าที่ซื้อจากระบบของการไฟฟ้า สำหรับตลาดในประเทศเบื้องต้นบริษัทจะเน้นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและสม่ำเสมอ

ขณะที่โครงการบ้านจัดสรรอาจมีหลายที่ที่มีคนซื้อทิ้งไว้ แต่ไม่มีคนอยู่อาศัย ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอ ยกเว้นรัฐจะวางระบบให้สามารถซื้อขายไฟฟ้าระหว่างบ้าน

นโยบายของไทยต้องชัด

เช่นเดียวกับการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในภาพรวม ที่จะต้องอาศัยนโยบายจากรัฐที่ชัดเจน โดยเฉพาะโซล่าเซลล์ ว่าจะเปิดรับซื้อใหม่เมื่อใด และอย่างไร สิ่งสำคัญค่าไฟฟ้าที่ให้ ต้องจูงใจ ซึ่งไม่ใช่ 2.40 บาทต่อหน่วยอย่างแน่นอน เพราะต่ำเกินไป ทำให้ไม่ดึงดูดการลงทุน ยกตัวอย่างหลายๆประเทศต่างใช้มาตรการค่าไฟฟ้าจูงใจนักลงทุนทั้งสิ้น เช่น ในญี่ปุ่นที่บริษัทได้ค่าไฟฟ้าจากโครงการยามากะ เฟส 1 ที่ 40 เยน หรือ 12 บาทต่อหน่วย ส่วนเฟส 2 เราได้ 36 เยน หรือประมาณ 10 บาทต่อหน่วย

และหากมองว่าโซล่าเซลล์ไม่เสถียร สามารถใช้รูปแบบของญี่ปุ่นได้ ที่กำหนดให้บางพื้นที่ต้องให้ผู้ผลิตติดตั้งแบตเตอร์รี่รองรับ เช่นโครงการยามากะ เฟส 1 บริษัทก็ทำแบตเตอร์รี่สำรองระบบไว้ด้วย เพื่อรักษากำลังการผลิตให้มีความมั่นคงมากขึ้น แต่ทั้งหมดลงทุนได้ภายใต้การสนับสนนุของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

“สำหรับประเทศไทยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทำมาก่อนประเทศอื่น จนมาถึงจุดทางแยกที่จะไปต่ออย่างไรให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องนี้มากขึ้น และดึงดูดผู้ลงทุน สำคัญอยู่ที่นโยบายต้องชัดเจน และค่าไฟฟ้าต้องเหมาะสม” นายวรุตม์ ฝากไว้ในตอนท้าย

Avatar photo