CEO INSIGHT

‘ข้าวหม้อใหม่’ ภารกิจยามเกษียณซีอีโอโคคา ‘พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ’

หลังจากเกษียณจากธุรกิจ และผ่องถ่ายงานไปสู่รุ่นลูก ทำให้ “พิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ” ประธานกรรมการบริหาร โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล ยังคงทำหน้าที่ดูแลด้านนโยบายของโคคา และมองหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิตยามเกษียณ

นี่จึงเป็นจุดกำเนิดของแบรนด์ “ข้าวหม้อใหม่” ร้านฟาสต์ฟู้ดอาหารไทย ที่พิทยาปลุกปั้นขึ้นจากความคิดที่ต้องการตอบแทนสังคม โดยเลือกจากจุดแรกคือ “ชาวนาไทย”

54658

“ที่มาของร้านข้าวหม้อใหม่เกิดจากหลังจากผมเกษียณ ก็อยากจะทำอะไรเพื่อสังคมซึ่งเป็นความตั้งใจมานานแล้ว ตอนแรกว่าจะไปสอนแต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปสอนที่ไหนเพราะช่วงที่ทำงานเราไม่เคยไปสอนอะไรมากมาย จนกระทั่งลูกสาวผมไปทำออแกนิคเลยเกิดความรู้สึกว่าเราสามารถสอนเกษตรกรได้”

จากจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่ต้องการทำงานด้านเกษตรกร รู้จักเพื่อนที่กรมการข้าว และได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ชีวิตเกษตรกร หรือชาวนาไทย ทำให้พิทยารู้ว่า ชาวนา เป็นอาชีพที่น่าสงสารมากเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอดเวลา

“เกษตรกรเอาข้าวไปขายให้โรงสี นั่นคือ ผีเข้าป่าช้า ยังไงก็ต้องขายแม้ไม้ได้ราคา ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการทำนาสูงขึ้นทุกวัน ตั้งแต่แรกที่ต้องเสียเงินจ้างรถขุดหน้าดินเพื่อเตรียมดิน ค่าพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่ารถเก็บเกี่ยว ไปจนถึงค่ารถบรรทุกข้าวไปขาย”

145999

นอกจากนี้ การที่ข้าวในปัจจุบัน ต้องใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก เพื่อให้ข้าวได้ผลผลิตดี ได้ราคา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพของคนทานในอนาคต จากการที่สารเคมีต่างๆ เข้าไปสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้พิทยา เกิดแนวคิดที่จะสนับสนุนชาวนาไทยให้ปลูกข้าวอินทรีย์ จึงศึกษาหาความรู้จากกรมการข้าว และเริ่มต้นหาผู้ที่พร้อมปลูกข้าวอินทรีย์จากพนักงานในโคคา จนเป็นจุดเริ่มต้นของที่นา 3 ไร่ในโครงการนี้

“ผมได้คุยกับพนักงานว่ามีใครอยากปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์บ้าง จนได้เจอกับหลานของพนักงานคนหนึ่งที่มีนาอยู่ 3 ไร่ อยากเป็นชาวนา และเป็นคนรุ่นใหม่ เราก็เริ่มไปสอนปลูกอินทรีย์โดยมีข้อแม้ว่าเมื่อเรียนรู้ต้องกระจายต่อ”

เปิดฤดูกาลแรก ก็ทำให้เห็นผลชัดเจนว่า การปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ทำให้ช่วยประหยัดค่าปุ๋ยไป 1 หมื่นกว่าบาท เมื่อผสมผสานกับเทคนิคการปลูกข้าวเม็ดเดียว ทำให้จากเดิมที่นา 2 ไร่ ต้องหว่านพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัม ก็เหลือเพียงครึ่งกิโลกรัม โดยใช้วิธีการเพาะก่อน แล้วดำทีละ 1 เม็ด ซึ่งผลผลิตที่ได้ถือว่าน่าพอใจไม่แพ้การหว่านดำ

146001

สำหรับผลผลิตที่ได้จากนาข้าวเกษตรอินทรีย์ที่เข้าไปสนับสนุน ทางโคคาจะรับซื้อในราคายุติธรรม เช่นในฤดูกาลที่ผ่านมา หากเป็นข้าวเปลือกปกติ จะขายได้ราคากิโลกรัมละ 15-16 บาท แต่สำหรับข้าวเกษตรอินทรีย์ ราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น 48 บาท หรือคิดเป็นเงินที่ได้ในหนึ่งฤดูการปลูกประมาณ 30,000 บาทถึง 37000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว

จากผลผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์ในโครงการ จึงต่อยอดมาสู่การสร้างแบรนด์ และเปิดร้าน “ข้าวหม้อใหม่” สาขาแรก ที่ปั๊ม ปตท. ถนนบางนาตราด กม. 34 เพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวในโครงการ และเพิ่มช่องทางการทำตลาด โดยนำข้าวในโครงการมาใช้ในร้านอาหาร “ข้าวหม้อใหม่” และจะต่อยอดไปสู่การใช้ในร้านอาหารในเครือโคคาทุกแบรนด์ โดยเฉพาะโคคา และ แมงโก้ทรี รวมไปถึงแบรนด์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คอนเซ็ปต์ ของร้านข้าวหม้อใหม่จึงเกิดขึ้น โดยใช้การหุงในหม้อดิน และเป็นการหุงใหม่ทุกครั้งในแต่ละจาน เพื่อให้ได้กลิ่นหอมของข้าวใหม่ที่ปรุงแบบสดใหม่ เพราะหุงใหม่ทุกครั้ง ทุกจาน ซึ่งจะเป็นเอกลักษณ์ของร้านข้าวหม้อใหม่ให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ได้

146000

แต่อีกความหมายลึกๆ ของ “ข้าวหม้อใหม่” จะมุ่งสะท้อนถึง “เกษตรกรรุ่นใหม่” ที่พิทยาตั้งใจส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งเขามีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ในโครงการให้ได้ถึง 16 ไร่ เพื่อรองรับร้านอาหารในเครือ รวมทั้งต่อยอดในการสร้างแบรนด์ของเกษตรกรแต่ละราย ให้สามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าข้าวเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แบรนด์ของตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดอีกทางหนึ่ง

พิทยา ปิดท้ายว่า ร้านข้าวหม้อใหม่ ไม่ใช่ธุรกิจที่ทำเพื่อหวังกำไรมากมาย เพราะจุดเริ่มต้นมาจากการทำเพื่อสังคม ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญของข้าวหม้อใหม่ จึงอยู่ที่ “ชาวนาไม่ตาย ลูกค้าทานข้าวได้อย่างสบายใจ และปลอดภัย”

54657

Avatar photo