Business

บอร์ดรถไฟตีกลับ ‘แผนบริหารสถานีกลางบางซื่อ’ เหงื่อตกกับตัวเลขขาดทุน 3 พันล้าน

ไม่ให้ผ่าน! บอร์ดรถไฟตีกลับ “แผนบริหารสถานีกลางบางซื่อ” หวั่น 5 ปีแรกทำองค์กรเลือดไหลเพิ่มอีก 3 พันล้าน สั่งไปหาวิธีรีดรายได้ให้พอรายจ่าย

สถานีกลางบางซื่อ 2

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วานนี้ (16 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) มีมติให้การรถไฟฯ กลับไปศึกษาแผนบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อเพิ่มเติมให้รอบคอบ เนื่องจากเห็นว่าแผนการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมุติฐานทั้งหมด จึงเกรงว่าเมื่อเปิดประมูลจริง จะเกิดปัญหาเหมือนกรณีการเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีกลางบางซื่อแปลง A ที่ไม่มีเอกชนสนใจยื่นข้อเสนอ

นอกจากนี้ แผนบริหารจัดการดังกล่าวยังส่งผลให้รายได้ของสถานีกลางบางซื่อไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงเกรงว่าผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นภาระทางการเงินในอนาคต บอร์ดจึงต้องการให้การรถไฟฯ ทบทวนแนวทางทั้งหมดอีกครั้งและนำกลับมาเสนอในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้

73324448 3014081975273320 7304950221794967552 o

ขาดทุนอีก 3 พันล้านไม่ไหว

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้การรถไฟฯ ได้เสนอแผนบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อในภาพรวมให้บอร์ดพิจารณา โดยแผนดังกล่าวตั้งอยู่บนตัวเลขที่ว่า ในช่วง 5 ปีแรก การรถไฟฯ จะมีรายได้จากการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อน้อยกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อปี หรือรวมแล้วขาดทุน 2,500-3,000 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงเข้าสู่จุดคุ้มทุนในระหว่างปีที่ 6-10 เป็นต้นไป

เมื่อบอร์ดพิจารณาแผนการดังกล่าวแล้ว ก็สั่งการให้การรถไฟฯ และที่ปรึกษากลับไปศึกษาแผนการทั้งหมดเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าโครงการนี้ใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเปิดให้บริการแล้วก็ยังขาดทุนเป็นวงเงินจำนวนมาก ก็เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระตลอด ดังนั้น การรถไฟฯ จึงต้องหาวิธีอื่นๆ ในการลดตัวเลขขาดทุนให้น้อยลง หรือเข้าสู่จุดคุ้มทุนโดยเร็วที่สุด

74428859 3026017954079722 9073604087701831680 o

แนะวิธีรีดรายได้เพิ่ม

ทั้งนี้ บอร์ดให้แนวทางว่า การรถไฟฯ และบริษัทที่ปรึกษาควรหารายได้เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย เช่น ทบทวนอัตราค่าเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่กำลังจะเปิดประมูลว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่, ศึกษาเปรียบเทียบกับธุรกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือสนามบิน เป็นต้น นอกจากนี้ ขอให้ลองพิจารณาเปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์หรือพื้นที่โฆษณาในสถานีกลางบางซื่อพ่วงกับสถานีอื่นๆ เช่น สถานีดอนเมือง ที่มีแนวโน้มจะมีปริมาณผู้โดยสารสูง เพื่อเพิ่มมูลค่าของสัญญาและดึงดูดเอกชนให้เข้าร่วมประมูลมากขึ้น

“บอร์ดให้ความเห็นว่า การก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อลงทุนไปเยอะ จึงไม่ควรขาดทุนตั้งแต่เปิดให้บริการวันแรก โดยขอให้การรถไฟฯ ช่วยศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพรวมตัวเลขต้นทุนค่าใช้จ่าย พื้นที่ ผลประโยชน์ กรอบการจัดประโยชน์ ถ้าแผนใหม่ทำให้รายได้ Cover รายจ่ายก็ดี หรืออย่างน้อยก็ต้องขาดทุนลดลง” แหล่งข่าวกล่าว

fig 13 11 2019 07 02 40

นับถอยหลังเปิดให้บริการ

รายงานข่าวจากการรถไฟฯ เปิดเผยต่อว่า ขณะนี้แผนการเปิดประมูลสัญญาบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อตึงตัวเป็นอย่างมาก เพราะการรถไฟฯ และรัฐบาลตั้งเป้าหมายจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวมถึงสถานีกลางบางซื่อพร้อมกันในเดือนมกราคม 2564 แต่ล่าสุดการรถไฟฯ ยังไม่ได้เริ่มเปิดประมูลงานบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อทั้ง 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ สัญญาเช่าพื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณา สัญญาจ้างบริหารจัดการภายในสถานีกลางบางซื่อ และสัญญาจ้างเหมาบริหารจัดการที่จอดรถ

โดยการรถไฟฯ จะเริ่มเปิดประมูลหาผู้บริหารสถานีกลางบางซื่อในต้นปีนี้และต้องได้ตัวผู้ชนะการประมูลก่อนเปิดให้บริการ 5-6 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2563 เพื่อให้ทันกับเป้าหมายการเปิดให้บริการ

Avatar photo