Business

รฟท. ของบสร้าง ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ เพิ่มหมื่นล้าน หวั่นไม่เหลือเงินจ่ายผู้รับเหมา

“บอร์ดการรถไฟฯ” เห็นชอบให้ของบสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีแดง” เพิ่มหมื่นล้าน เผยต้องการด่วนที่สุด! หวั่นถึงเดือน มี.ค. ไม่เหลือเงินจ่ายค่าจ้าง “UNIQ-STEC” ผู้รับเหมาสัญญา 1 ด้านผลประมูล “ไฮสปีดไทย-จีน” ยังไม่ได้พิจารณา สั่งรวบตึงเสนอครั้งหน้าทีเดียว 7 สัญญารวด

วรวุฒิ มาลา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ม.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เห็นชอบให้การรถไฟฯ เสนอขอขยายกรอบวงเงินลงทุน โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เพิ่มเติมอีก 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้กรอบวงเงินลงทุนโครงการฯ ทั้งหมดรวมเป็น 1.1 แสนล้านบาท

สาเหตุที่ต้องเสนอรัฐบาลให้ขยายกรอบวงเงินลงทุนครั้งนี้ เนื่องจากการรถไฟฯ ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง หรืองานที่ไม่ได้ออกแบบไว้ตั้งแต่ต้น ส่งผลให้วงเงินที่ได้รับอนุมัติในครั้งแรกไม่เพียงพอและการรถไฟฯ ต้องขอขยายกรอบวงเงินอีกหลายครั้ง รวมถึงในครั้งนี้ด้วย

 รถไฟฟ้าสายสีแดง

แจกแจงค่าใช้จ่าย “รถไฟฟ้าสายสีแดง”

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า เมื่อต้นปี 2562 บอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้การรถไฟฯ เสนอขอขยายกรอบวงเงินลงทุน โครงการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มเติมเป็นครั้งสุดจำนวน 9,000 ล้านบาท และเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว แต่กระทรวงคมนาคมส่งเรื่องกลับมาให้การรถไฟฯ ปรับปรุงข้อมูลและรายละเอียดอีกครั้ง จนเป็นที่มาของมติบอร์ดให้ขอขยายกรอบวงเงินลงทุนเพิ่มเติม 10,000 ล้านบาทในวันนี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอน

สำหรับการขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมดังกล่าว การรถไฟฯ จะนำไปใช้ในงานต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากแผน หรือเกิดจากการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่

  • สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ที่มีกิจการร่วมค้า US ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECและบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอน์ด คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นผู้รับเหมา ต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมประมาณ 4,000 ล้านบาท
  • สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ที่มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือITD เป็นผู้รับเหมา ต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมในหลัก 100 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นค่าชดเชยในกรณีที่การรถไฟฯ ส่งมอบให้พื้นที่ก่อสร้างให้ ITD ล่าช้า
  • สัญญาที่3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่มีกิจการร่วมค้า MHSC Consortium ซึ่งประกอบด้วยบริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial, บริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation เป็นผู้รับเหมา ต้องขอขยายกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีกประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายภาษีอุปกรณ์และขบวนรถ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ขอขยายวงเงินในด้านอื่นๆ ที่จำเป็น อีกประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษา เป็นต้น

รถไฟฟ้าสายสีแดง

ต้องการเงินด่วน! กลัวไม่เหลือจ่ายผู้รับเหมา

รายงานข่าวกล่าวต่อว่า ปัจจุบันการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อมีความคืบหน้าไปมากแล้ว และไม่น่าเป็นห่วงเรื่องความสำเร็จของงาน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การเบิกจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา เพราะวงเงินในสัญญาที่ 1 เหลือจ่ายให้ผู้รับเหมาถึงเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น ส่วนสัญญาที่เหลืออีก 2 ฉบับไม่น่าเป็นห่วง เพราะสัญญาที่ 2 เป็นเพียงการเจรจาจ่ายค่าชดเชย และสัญญาที่ 3 ยังเหลือวงเงินมากพอที่จะทยอยจ่ายให้ผู้รับเหมา

โดยตามปกติผู้รับเหมาจะเบิกเงินตามหลังความก้าวหน้าของงานก่อสร้างประมาณ 10% หรือมากกว่านั้น เช่น การก่อสร้างสัญญาที่ 1 มีความคืบหน้ากว่า 90% เพราะฉะนั้นผู้รับเหมาก็เบิกเงินไปแล้วประมาณ 70-80% และเหลือเงินอีก 20-30% ซึ่งการรถไฟฯ ต้องจ่ายเมื่องานแล้วเสร็จ

“สำนักบริหารนี้สาธารณะเข้าใจเรื่องนี้และพยายามช่วยผลักดัน โดยการรถไฟฯ ต้องการเงินก้อนนี้ด่วนที่สุด เพราะอีก 1-2 เดือนก็จะไม่มีเงินจ่ายผู้รับเหมา ถ้าถึงเดือนมีนาคมแล้ว ผลงานคืบหน้าตามเป้าหมาย แล้วการรถไฟฯ ไม่มีเงินจ่ายก็เกิดปัญหา โดยตอนนี้ก็เหลือเงินอีก 3,000-4,000 ล้านบาทที่ต้องขอเพิ่มเติมเพื่อจ่ายให้ผู้รับเหมาสัญญาที่ 1” แหล่งข่าวกล่าว

สถานีกลางบางซื่อ 2

รอเคาะผลประมูล ‘ไฮสปีดไทย-จีน’ 7 ฉบับรวดเดียว

รายงานข่าวเปิดเผยต่อว่า วันนี้การรถไฟฯ ยังได้เสนอผลการประมูลงานโยธา โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 3 สัญญาให้ที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบ แต่บอร์ดยังไม่ได้พิจารณา เนื่องจากต้องการเห็นความคืบหหน้าของโครงการในภาพรวมก่อน

ประกอบกับการรถไฟฯ รายงานว่า จะเสนอผลการประมูลงานโยธาโครงการรถไฟไทย-จีนอีก 4 สัญญาให้บอร์ดพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า และถึงบอร์ดเห็นชอบผลการประมูลในตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถลงนามสัญญากับเอกชนได้ เพราะต้องรอให้การปรับปรุงรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จก่อน วันนี้บอร์ดจึงขอให้การรถไฟฯ รวบรวมผลการประมูลงานโยธาทั้ง 7 สัญญา เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาพร้อมกันทั้งหมดในครั้งหน้า

Avatar photo