CEO INSIGHT

รวยด้วยออนไลน์ ‘เอ็น-สแควร์’ จากม็อบถูพื้น สู่รายได้เกือบพันล้าน

จากพ่อค้ารายเล็กๆ บนโลกออนไลน์ ที่เริ่มต้นธุรกิจด้วยการขาย ม็อบถูพื้น ราคา 349 บาท ปัจจุบัน “นัฐพล บุญภินนท์” ขายม็อบถูพื้นไปแล้วกว่า 5 แสนชิ้น และขยายไลน์สินค้าบนโลกออนไลน์ไปในหลากหลายสินค้าในกลุ่มโฮม ลิฟวิ่ง มากกว่า 510 แบรนด์ และลุยขายในทุกแพลตฟอร์ม

ถึงวันนี้ บริษัท เอ็น-สแควร์ อีคอมเมิร์ซ จำกัด (N-Squared eCommerce) ที่มี นัฐพล บุญภินนท์ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการร่วม คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาทในปีนี้ จาก 700 ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งหากดูจากการเติบโตที่ผ่านมาแล้ว เป้าหมายรายได้ 1,000 ล้านบาท อยู่ใกล้แค่เอื้อมเท่านั้น

คุณนัฐพล บุญภินนท์ Managing Partner N Squared eCommerce

นัฐพล บุญภินนท์ เปิดเผยถึงกลยุทธ์และเคล็ดลับในการบริหารธุรกิจการขายสินค้าให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ในงาน Priceza E-Commerce Summit 2020 ว่า ปัจจุบันบริษัทขยายธุรกิจไปยัง 5 ประเทศ คือประเทศไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และกำลังเริ่มขยายตลาดไปประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่ 6 รวมทั้งมีคลังสินค้าของตัวเอง 2 แห่ง และกำลังจะขยายแห่งที่ 3 ในเร็วๆนี้

จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจของ นัฐพล เริ่มจากการขายม็อบถูพื้น ด้วยการว่าจ้างโรงงานอื่นผลิตให้ หรือโออีเอ็ม รวมทั้งมองหาสินค้าของผู้ประกอบการรายอื่นมาจำหน่าย โดยเน้นเฉพาะกลุ่มโฮมลิฟวิ่ง เพราะรู้ว่ามีความภนัดในหมวดสินค้านี้ ซึ่งรวมถึงของใช้ภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ทั้งหมดทำภายใต้ร้านโฮมฮัก ซึ่งเป็นชื่อร้านที่ประกอบด้วยแบรนด์ย่อยๆ หลายแบรนด์ บนเว็บไซต์ และอีมาร์เก็ตเพลสต่างๆ

“ที่สำคัญคือ สินค้ากลุ่มโฮม ลิฟวิ่ง ล้าสมัยยาก ต่างจากมือถือ เราก็เคยทำ กลุ่มสินค้าโทรศัพท์ถือว่าเป็นสินค้าบูดเร็วระดับขนม เพราะตกรุ่นเร็วมาก แต่ของใช้มาอายุการขายได้นานกว่า”

N Squared x Priceza 1

นัฐพล ถ่ายทอดความสำเร็จที่ผ่านมาจนกลั่นกรองเป็นองค์ความรู้ในการทำธุรกิจหรือขายของบนโลกออนไลน์ ดังนี้

  • เป็นคนไทย ขายของก็ต้องเป็นแบบคนไทย ที่ขายให้คนไทย เห็นได้จากปัจจุบันผู้ประกอบการออนไลน์จะนำโซลูชั่นต่างประเทศ มาใช้กับคนไทย โดยไม่พยายามปรับให้เป็นไทย เช่น ระบบการจ่ายเงินต้องใช้เครดิตการ์ด คิวอาร์เพย์เมนต์ “ผมตัดทุกอย่างออก เหลือแต่ Cash on delivery หรือซีโอดี เพราะลูกค้าคนไทยหลายคนยังไม่พร้อมใช้เครดิตการ์ดในการชำระเงิน
  • ต้องใช้ออมนิชาแนล การขายสินค้าในหลากหลายช่องทาง อาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่จะสื่อให้เข้าใจ เข้าถึง ครอบคลุม ทำได้ยากมาก เช่น การ ไลฟ์ ขายสินค้าในเฟซบุ๊กกับการขายสินค้าตอบแชทในเฟซบุ๊กก็ถือว่าเป็นคนละช่องทางการขาย บางทีลูกค้าอาจจะดูการขายสินค้าในไลฟ์ แต่สั่งซื้อผ่าน แมสเซ็นเจอร์ หรือลงสินค้าขายในอินสตาแกรม แต่แชทซื้อหรือสอบถามผ่านทางไลน์

N Squared x Priceza 2

“ดังนั้นไม่ควรมองว่าการขายผ่านโซเชียล คอมเมิร์ซ หนึ่งช่องทาง เท่ากับ 1 ช่องทาง แต่ต้องมองเป็น โซเชียล คอมเมิร์ช เป็น ออมนิชาแนล ไม่เช่นนั้นจะทำให้การขายล้มเหลวได้”

  • มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หากเป็นมุมของเทคโนโลยีคือต้องมีการพัฒนาบอทที่ใช้อย่างสม่ำเสมอ เช่น คำถามที่ลูกค้าถามบ่อยแต่บอทไม่สามารถตอบได้ ต้องพัฒนาและเก็บข้อมูลว่าลูกค้าต้องการคำตอบแบบไหนและพัฒนาบอทให้สามารถตอบสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปภาพเพิ่มเติมในการอธิบาย

เพราะฉะนั้นต้องตระหนักเสมอว่า ไม่ใช่แค่บอทที่ต้องเรียนรู้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับความรู้ให้กับบอทเช่นกัน ลูกค้าอาจจะไม่ได้รู้สึกแย่ที่ต้องคุยกับบอท แต่อาจจะแย่ที่คุยกับบอทที่ไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเป็นผลตอบรับระยะยาวที่จะให้ลูกค้าเลือกใช้บริการและซื้อสินค้าจากเรา

thumbnail image 1

 

นัฐพล ปิดท้ายว่า 5 เสาหลัก ในการทำธุรกิจของบริษัทคือ การแบ่งหมวดหมู่สินค้าที่แตกต่างกันในแต่ละช่องทาง, การพัฒนาคอนเทนต์, คอมเมอร์เชียล, ทราฟฟิก และ โอเปอเรชั่น การบริหารจัดการ ซึ่งการทำโซเชียล คอมเมิร์ซ หรือ อีมาร์เก็ตเพลส ให้ประสบความสำเร็จก็ต้องเรียนรู้และพัฒนาสินค้ารวมถึงธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและการแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

Avatar photo