World News

จับตา ‘สายการบินโลก’ รายไหนรุ่ง รายไหนร่วง

ในปี 2562 นี้ มีการคาดการณ์กันว่า สายการบินพาณิชย์ทั่วโลกจะมีรายได้รวมกันอยู่ที่ราว 865,000 ล้านดอลลาร์  แรงหนุนจากจำนวนนักเดินทางที่เพิ่มขึ้นราว  5.1% โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความต้องการการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ช่วยให้บรรดาสายการบินชั้นนำของโลก ยังรักษาการทำกำไร หรือกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง

night flight 2307018 640
ภาพ : pixabay

เจแปน แอร์ไลนส์

หลังจากที่เคยประสบภาวะขาดทุน ถึงขั้นต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินภายใต้กฎหมายล้มละลายเมื่อปี 2553 สายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่นรายนี้ ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมา จนทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ในปีงบการเงิน 2562 นี้ บริษัทได้เริ่มดำเนินโครงการลดค่าใช้จ่ายอีกครั้ง ผลจากรายได้ที่ซบเซาลง ทำให้กำไรในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบการเงินปัจจุบันร่วงลง แต่บริษัทยังคงยืนยันในตัวเลขคาดการณ์กำไรสุทธิตลอดทั้งปีงบการเงินปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ว่าจะอยู่ที่ 114,000 ล้านเยน ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายในวงกว้าง

สิงคโปร์ แอร์ไลนส์

บริษัทสายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ รายงานผลประกอบรายปีในปีงบการเงิน 2561 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แรงหนุนจากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งขึ้นอย่างมาก แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในด้านเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบถึงครึ่งหนึ่งของผลกำไรบริษัท

ในปีงบการเงินที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 3.3% มาอยู่ที่ 16,320 ล้านดอลลาร์ จากจำนวนผู้โดยสารที่พุ่งขึ้น 7.2% ขณะที่ผลกำไรโดยรวมของบริษัท ลดลง 47.5% มาอยู่ที่ 682.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากระดับ 1,300 ล้านดอลลาร์ในปีงบการเงินก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี รายได้ของบริษัทยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการยกเครื่องฝูงบิน และปรับโครงสร้าง ซิลค์ แอร์ สายการบินในเครือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการควบรวมกิจการกับสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ที่เป็นสายการบินหลัก

โคเรียน แอร์

สายการบินรายใหญ่สุดของเกาหลีใต้ ในแง่ของขนาดฝูงบิน ตกอยู่ในภาวะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของสายการบินลดลง ประกอบกับเงินวอนที่อ่อนค่าลง ความต้องการในการขนส่งสินค้าทางอากาศร่วงลง และความต้องการเดินทางไปยังญี่ปุ่นดิ่งลงอย่างหนัก จากปัญหาขัดแย้งทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ

ล่าสุด สายการบินได้ประกาศโครงการหยุดงานแบบสมัครใจนาน 3 เดือนสำหรับพนักงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากบริษัทมียอดขาดทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 458,130 ล้านวอน

Airline P01 01

คาเธ่ย์ แปซิฟิก 

สายการบินคาเธ่ย์แปซิฟิค สายการบินหลักของฮ่องกง รายงานผลประกอบการปี 2561 ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิ 2.35 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง หลังจากที่บริษัทขาดทุนติดต่อกัน 2 ปีซ้อน โดยการกลับมาทำกำไรอีกครั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่สายการบินยกเครื่องการดำเนินงานครั้งใหญ่ ทั้งลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มเส้นทางบินระยะไกลไปตะวันออกกลาง

แอร์ ฟรานซ์

ปี 2562 กลายเป็นปีที่ถือได้ว่าค่อนข้างซบเซาสำหรับสายการบินจำนวนหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่ผู้เล่นรายใหญ่ในฝั่งยุโรป อย่างแอร์ฟรานซ์ ที่แม้จะทำกำไรอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ในปีงบการเงินปัจจุบัน สายการบินเตือนว่า กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินงาน ผลจากความไม่แน่นอนในเรื่องภูมิศาสตร์การเมือง และเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น

แควนตัส 

แควนตัสกรุ๊ปประกาศผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2561 ด้วยตัวเลขรายได้ที่สูงถึง 17,970 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย  โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 890 ล้านดอลลาร์ ออสเตรเลีย โดยระบุว่าได้แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาด รวมถึงความแข็งแกร่งจากเส้นทางบินภายในประเทศออสเตรเลียทั้งของสายการบินแควนตัสและสายการบินเจ็ท สตาร์ หน่วยงานในเครือ

Airline P02 01

บริติช แอร์เวย์ส

สายการบินรายใหญ่สุดของสหราชอาณาจักร และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป เคยประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ก่อนจะกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง หลังจากดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กลายมาเป็นเอกชนอย่างเต็มตัวเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว

ตลอดระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา สายการบินรายนี้สามารถทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถทำส่วนต่างผลกำไรจากการดำเนินงานได้ระหว่าง 12-15% ในช่วงเวลา 3 ปีข้างหน้า แม้จะประเมินว่าจำนวนผู้โดยสารจะมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 3.4% ในระยะเวลาดังกล่าว

กาตาร์ แอร์เวย์ส

เจ้าของรางวัลสายการบินดีที่สุดในโลกประจำปี 2562 จากการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ เป็นอีก 1 สายการบินที่ทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะเจอกับความท้าทายหลายด้าน รวมถึง การที่กาตาร์ยังโดนคว่ำบาตรจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งในตะวันออกกลางมาตั้งแต่ปี 2560 จนทำให้สายการบิน ไม่สามารถบินเข้าน่านฟ้าของประเทศเหล่านี้ได้

ในรายงานผลประกอบการล่าสุด สำหรับปีงบการเงินที่ผ่านมา สายการบินยังมีผลประกอบการที่แข็งแกร่ง แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน ทำให้ตกอยู่ในภาวะขาดทุน  แต่ในปีงบการเงินปัจจุบัน กาตาร์ แอร์เวย์ส ได้เพิ่มจุดหมายปลายทางการบินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้นับถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมา สายการบินมีเที่ยวบินไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 แห่ง

1573285338180

 

อเมริกัน แอร์ไลนส์

สายการบินรายใหญ่สุดของสหรัฐ ที่ทำกำไรมาได้อย่างต่อเนื่อง ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางด้านรายได้ในปีนี้ จากปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิง 737 แม็กซ์ ที่ทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ ถูกทั่วโลกสั่งห้ามบิน ซึ่งอเมริกัน แอร์ไลนส์ คาดว่า เรื่องนี้จะเป็นตัวฉุดกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทลงมามากถึง 540 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ราว 400 ล้านดอลลาร์

กระนั้นก็ตาม บริษัทเชื่อว่า ผลประกอบการโดยรวมตลอดทั้งปีน่าจะยังอยู่ในด้านบวก จากความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 3% ในไตรมาส 3 ของปีงบการเงินปัจจุบัน จนช่วยหนุนให้บริษัททำรายได้ในไตรมาสนี้ได้มากเป็นประวัติการณ์ถึง 11,900 ล้านดอลลาร์

เอมิเรตส์

สายการบินแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่องถึง 29 ปี ยังมีแนวโน้มที่สดใส หลังผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบการเงิน 2562 นับถึงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัททำกำไรพุ่งขึ้นถึง 282% ที่ 862 ล้านเดอร์แฮมยูเออี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบการเงินที่แล้ว

เอมิเรตส์มีกำไรเพิ่มขึ้น ทั้งที่รายได้โดยรวมของบริษัทลดลงมาราว 3% มาอยู่ที่ 47,300 ล้านเดอร์แฮมยูเออี และจำนวนผู้โดยสารลดลง 2% อานิสงส์จากการที่บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ 8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันปรับตัวลงมา

Avatar photo