CEO INSIGHT

เปิดวิสัยทัศน์ ‘นิตินัย’: ทอท. ทำคลอด S-Curve ลูกใหม่ค้ำยันธุรกิจ (ตอน 2)

ตอนที่แล้ว “นิตินัย ศิริสมรรถการ” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “The Bangkok Insight” ถึงสัญญาณการแผ่วตัวของ S-Curve ลูกแรก ทำให้ ทอท. ต้องมองหาคลื่นลูกใหม่ (New S-Curve) เพื่อพยุงให้ธุรกิจเคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้า ในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airline) กำลังสั่นคลอน

S 20979860 456

“นิตินัย” กล่าวถึงวิสัยทัศน์เรื่อง New S-Curve ว่า ทอท. ใช้เวลาปลุกปั้น ธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน(Non-aero) ให้เป็น S-Curve ลูกที่ 2 มานานกว่า 5 ปี ซึ่งคลื่นลูกใหม่นี้มีส่วนประกอบหลายอย่าง ได้แก่ การตั้งศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) ในสนามบินสุวรรณภูมิ, การเริ่มสัญญาธุรกิจปลอดภาษี (Duty Free) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ฉบับใหม่ ส่งผลให้ ทอท. มีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นจาก 8,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 2.4-2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี, การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม และการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรอง (satellite) หลังที่ 1 ในแผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2

S-Curve ลูกที่ 2 จึงเต็มไปด้วย “ธุรกิจใหม่ๆ” ซึ่งจะเริ่มผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมในปลายปี 2563 เพราะฉะนั้นความรุ่งเรืองระลอกใหม่ของ ทอท. จึงต้องรออีก 13 เดือนข้างหน้า

สุวรรณภูมิ112

ปั้น “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” เป็นคลื่นลูกที่ 2

“ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” ถือเป็นส่วนสำคัญใน S-Curve ลูกที่ 2 โดย ทอท. มีไอเดียเรื่องนี้ตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนและเริ่มคิดจากการเจรจาสิทธิประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เช่น การแลกคะแนนรอยัล ออร์คิด พลัสของการบินไทย กับค่าการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) หรือค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) ของ ทอท.

แต่พอคิดจากฝั่งทรัพย์สินก็ไปลำบาก เพราะทุกคนไม่รู้จะเจรจายังไง คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จะวัดการแลกเปลี่ยนกันยังไง หลงทางไปปีกว่าสุดท้ายก็ไม่เอาวิธีนี้ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาคิดทางฝั่งบริการแทน เพราะมีเสียงบ่นเรื่องบริการในสนามบินเยอะ “สุดท้ายเพิ่งมาเข้าใจว่ามันเรื่องเดียวกัน ถ้าทำ Service ให้ดี Commercial มันมาเอง”

การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของ ทอท. ตอนนี้จึงตกผลึกใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. Digital Airports การสื่อสารข้อมูลภายในสนามบินและข้อมูลอื่นๆ กับผู้โดยสาร
  2. Digital Operation การสื่อสารกับผู้ให้บริการในสนามบิน เช่น สายการบิน, บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เป็นต้น เพื่อพัฒนาบริการให้มีประสิทธิภาพ
  3. Digital Cargo การสื่อสารเพื่อบริหารจัดการเรื่องการขนส่งสินค้าทางอากาศ
  4. Digital Office การสื่อสารเพื่อบริหารจัดการงานภายในของ ทอท. ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการกำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ต้องทำงานแบบรวมศูนย์อีกต่อไป

มือถือ

เปิดตัว “Digital Airports”

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ทอท. ได้จัดงานเปิดตัว AOT Digital Airports” เป็นแพลตฟอร์มแรก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “สนามบินมีชีวิต” โดยนำระบบที่มีอยู่แล้วในสนามบินจำนวน 44-45 ระบบ มาเชื่อมโยงข้อมูลกับแอปพลิเคชั่น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เช่น ผู้โดยสารสามารถจองที่จอดรถภายในสนามบิน, รู้ตารางเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์, รู้รายละเอียดการเดินไปที่ประตูเครื่องบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทอท. ไม่ได้ตั้งเป้าให้แพลตฟอร์ม Digital Airports เป็นแอปพลิเคชั่นแสดงข้อมูลสนามบินหรือระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่ ทอท. ตั้งใจให้เป็นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวครบวงจร

 

S 90931207
งานเปิดตัว “AOT Digital Airports”

สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย (Inbound) ก็จะสามารถหาข้อมูลการท่องเที่ยว จองโต๊ะร้านอาหาร หรือแลกแต้มต่างๆ ในประเทศไทยได้

ส่วนคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ (Outbounce) ก็จะมีบริการเชื่อมต่อข้อมูลกับสนามบินพันธมิตร (Sister airport) ในด้านบริการหรือเชิงพาณิชย์ แล้วแต่ความพร้อมของแต่ละสนามบิน อย่างสนามบินยุโรป เช่น แฟรงค์เฟิร์ต มิวนิค มีความพร้อมเชื่อมต่อในด้านบริการ ผู้โดยสารจะทราบว่าสามารถไปหยิบกระเป๋าได้ที่สายพานเบอร์อะไร แต่สนามบินในประเทศญี่ปุ่นมีความพร้อมในมิติเชิงพาณิชย์ เช่น สามารถจองร้านอาหารหรือแลกแต้มบัตรเครดิตได้ เป็นต้น

แม้ขณะนี้แพลตฟอร์ม Digital Airports อาจไม่ฉลาดและไม่ลงตัว 100% แต่ ทอท. ก็จำเป็นต้องเปิดตัว Digital Airports ออกไปก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจและดึงดูดคู่ค้าให้เข้ามาร่วมกับแพลตฟอร์ม

ในช่วง 4-5 เดือนต่อจากนี้ ทอท. ก็เร่งพัฒนาระบบและฟังก์ชันให้ดีมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วเริ่มทำประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นไป และตั้งเป้าให้แพลตฟอร์ม Digital Airports มีความสมบูรณ์ในเทศกาลสงกรานต์ 2563 ขณะเดียวกันในปี 2563 ทอท. ก็จะทยอยเปิดบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มอีก 3 ด้านที่เหลือไปทีละด้านจนครบสมบูรณ์

การบิน ๑๙๐๓๐๑ 0024

การค้าไร้พรมแดน

การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มจะทำให้การค้าขายของ ทอท. ไม่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่อีกต่อไป คู่ค้าสามารถฝากหน้าร้านหรือขายสินค้าผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม แล้วแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้ ทอท. แต่ขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่ารายได้จากดิจิทัลแพลตฟอร์มจะเป็นเท่าไหร่ แต่ก็คาดหวังว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มจะสร้างรายได้อย่างมากในอนาคต เพราะเป็นการค้าไร้พรมแดน

 “S-Curve ลูกที่ 2 เป็น Non-Aero ซึ่งจะเป็นรายได้ที่ช่วยค้ำยันที่ในช่วงที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุด แตกต่างจาก S-Curve ลูกแรกๆ เมื่อจะหมดปีงบประมาณ ก็ต้องมานั่งลุ้นจำนวนผู้โดยสาร เราจึงต้องมี Non-Aero เพื่อกระจายความเสี่ยงและไม่ต้องรอลุ้นปริมาณผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว”

ดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นความหวังในการค้ำยัน ทอท. ไปได้อย่างต่ำ 3-7 ปี หรืออาจจะ 10 ปีข้างหน้า รวมถึงช่วยอุดรอยต่อระหว่าง S-Curve ลูกที่ 1 ซึ่งกำลังอ่อนแรง และ S-Curve ลูกที่ 3 ซึ่งต้องใช้เวลาปลุกปั้นอีกพักใหญ่ โดยคลื่นลูกที่ 3 ของ ทอท. จะเป็นการกลับไปที่จุดเริ่มต้น เพราะ “กำพืดจริงๆ เราคือคนทำสนามบิน”

ติดตาม S-Curve ลูกที่ 3 ของ ทอท. ได้ในตอนต่อไป

Avatar photo