Business

ค้านโอน ‘สนามบินกระบี่’ ให้ ทอท. เสนอเปิดประมูล PPP เพื่อความโปร่งใส

ทย. ออกโรงค้านโอน “สนามบินกระบี่” ให้ ทอท. บริหารแทนแบบฟรีๆ หวั่นกระทบรายได้องค์กรและขาดเงินดูแลสนามบินอีก 24 แห่ง เตรียมชงบิ๊ก คมนาคมเปลี่ยนใช้วิธีจ้างบริหาร หรือเปิดประมูล PPP เพื่อความโปร่งใส

fig 06 08 2019 06 49 11

ตามที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการขอเข้าไปบริหารท่าอากาศยาน 4 แห่งในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนครเป็นท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานชุมพรเป็นท่าอากาศยานกระบี่แทนนั้น

นางอัมพวัน วรรณโก อธิบดีกรมท่าอากาศยาน  (ทย.) เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยานไม่เห็นด้วยกับการส่งมอบท่าอากาศยานกระบี่ให้ทอท. บริหารจัดการ เพราะจะกระทบในทางลบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการท่าอากาศยานแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ

เนื่องจากในปี 2561 กรมท่าอากาศยานมีรายได้จากการให้บริการท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่ง จำนวนรวม 852  ล้านบาท รายได้หลักมาจากท่าอากาศยานกระบี่จำนวน 469 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.05%  ดังนั้นถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานกระบี่ ก็จะส่งผลให้กรมท่าอากาศยานขาดรายได้หลัก ซึ่งจะนำไปใช้บริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลืออีก 24 แห่ง

amp
อัมพวัน วรรณโก

รัฐบาลลงทุน 6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ไปมากแล้ว เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และการขยายลานจอดอากาศยานซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งในปีงบประมาณ 2563  กรมท่าอากาศยานเตรียมขอรับงบประมาณในการก่อสร้างทางขับขนานด้วย รวมงบประมาณทั้งสิ้นในการพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่เป็นจำนวน 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งก็คาดหวังว่าจะนำรายได้มาจัดเก็บเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน

กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการและซ่อมแซมบำรุงรักษาท่าอากาศยาน เช่น จ้างพนักงานให้เพียงพอ การซ่อมบำรุงสิ่งอำนวยความสะดวกประเภทลิฟท์ บันไดเลื่อน สายพานลำเลียง ซึ่งมีข้อขัดข้องไม่สามารถตั้งงบประมาณไว้ล่วงหน้าได้ ดังนั้น รายได้ที่เข้าสู่กองทุนจึงเป็นกลไกในการบริหารจัดการท่าอากาศยานให้สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทันต่อการให้บริการผู้โดยสาร

ประกอบกับขณะนี้กรมท่าอากาศยานอยู่ในระหว่างจัดทำโครงสร้างเงินทุนหมุนเวียนเพื่อปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท และใช้สำหรับแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของผู้โดยสารในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เพียงพอ การซ่อมบำรุงล่าช้าและการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานสนามบิน ดังนั้น ถ้าหาก ทอท. เข้ามาบริหารท่าอากาศยานกระบี่จะทำให้เกิดผลกระทบตามมาอีกมากมาย

n4 1

เสนอจ้างบริหารหรือเปิด PPP

นางอัมพวัน กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากประเด็นดังกล่าว กรมท่าอากาศยานจึงจะเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาใช้วิธีอื่นในการบริหารท่าอากาศยานกระบี่แทน โดยกรมท่าอากาศยานจะเสนอให้ใช้วิธีจ้างเอกชนรายอื่นมาบริหาร หรือเปิดประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) เพื่อไม่ให้กรมท่าอากาศยานต้องขาดรายได้ในส่วนนี้ ถ้าหาก ทอท. สนใจเข้าบริหารท่าอากาศยานกระบี่ ก็สามารถเข้าร่วมประมูลพร้อมกับเอกชนรายอื่นๆ ได้และทำให้เกิดความโปร่งใสด้วย ส่วนท่าอากาศยานอีก 3 แห่งที่ ทอท. ต้องการเข้าบริหารนั้น กรมท่าอากาศยานไม่มีปัญหาหรือข้อติดใจใดๆ

“ทย. ขอสอบถามว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดขึ้น อีกทั้งคำขอของพื้นที่ในการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกล อาจจะต้องขอทบทวนหรืออาจจะมีขึ้นได้ยาก เนื่องจาก ทย. ไม่สามารถรับภาระในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงท่าอากาศยานที่เหลือทั้ง 24 แห่งได้ ดังนั้น ทย. อาจเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาเรื่องการใช้วิธี management contract หรือ PPP ในการบริหารท่าอากาศยานกระบี่เพื่อความโปร่งใส” นายอัมพวันกล่าว

Avatar photo