CEO INSIGHT

เปิดใจ ‘สารัชถ์ รัตนาวะดี’ ภารกิจดันกัลฟ์สู่ระดับภูมิภาค

ณ ตอนนี้ น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และไม่บ่อยนักที่ จะได้มีโอกาสสัมภาษณ์ หรือพูดคุยเกี่ยวกับธุรกิจไฟฟ้าที่เขากำลังดำเนินการอยู่

เมื่อไม่นานมานี้ The Bangkok Insight ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ เพื่อสอบถามถึงธุรกิจโรงไฟฟ้าและการลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

สารัชถ์ รัตนาวะดี เล่าว่าโครงการโรงไฟฟ้าในเมืองไทยของกัลฟ์ มีโครงการที่ต้องสร้างให้เสร็จอีก 2 โครงการ เป็นโครงการขนาด 2,500 เมกะวัตต์ อยู่ที่ศรีรราชาและปลวกแดงจังหวัดระยอง ตอนนี้เริ่มก่อสร้างแล้ว อีกสักประมาณ 3-4 ปีก็แล้วเสร็จ

สารัชถ์ รัตนาวะดี
สารัชถ์ รัตนาวะดี

สารัชถ์ บอกด้วยว่าตอนนี้เทรนด์ของโลก มาทางพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) มากขึ้น แต่จริงๆแล้ว Renewable Energy เหมาะกับประเทศที่เขากังวลเกี่ยวกับคาร์บอนไดออกไซต์ เรื่องสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ใหม่ ต้องยอมรับว่าค่าไฟจะต้องสูงขึ้นประมาณ 70% อันนี้ต้องยอมรับก่อน

ถ้าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีที่พักอาศัย หรือเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าพวกไอทีจำนวนมาก คงจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ถ้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ยังต้องมีการแข่งขัน ต้นทุนค่าไฟที่สูง อาจจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกน้อยลง เพราะต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นก็จะถูกผลักเป็นต้นทุนของการผลิตทันที

สำหรับเมืองไทย เมื่อประมูลแหล่งบงกช เอราวัณ มาได้ ราคาต่ำไปครึ่งหนึ่ง เลยทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซ เป็นสิ่งที่จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น “ผมมองไว้เพราะเมื่อแหล่งบงกช เอราวัณ เข้ามา ราคาค่าก๊าซก็จะถูกลงไปเยอะมาก ค่าไฟก็ลดลงเยอะมาก” 

ในส่วนการลงทุนต่างประเทศ สารัชถ์ บอกว่า กัลฟ์เองไปลงทุนที่ประเทศเวียดนามค่อนข้างเยอะ มีทั้งการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า Solar ที่ประเทศเวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังงานลม ยังมีแผนที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซที่ประเทศเวียดนามด้วย “กัลฟ์เรามุ่งโฟกัสการลงทุนไปที่เวียดนามเป็นหลัก” ส่วนประเทศอื่นๆก็ไปลงทุนที่ประเทศโอมาน ซึ่งมีโรงไฟฟ้าก๊าซเป็นหลัก ตอนนี้ก็เริ่มมี Renewable energy ไปที่โอมานด้วยเหมือนกัน

clvkmb9pN1 1

การลงทุนในเวียดนามของกัลฟ์ สารัชถ์ บอกว่าตอนนี้ที่ทางรัฐบาลเวียดนามอนุมัติแล้วประมาณ 450 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลม กับ Solar ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซอยู่ในช่วงศึกษา ตอนนี้อยู่ระหว่างการยื่นใบอนุญาตอยู่ ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล

สารัชถ์ บอกด้วยว่าขณะนี้เวียดนามยังมีความต้องการไฟฟ้าจำนวนมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวอีกมาก กัลฟ์เลยให้ความสำคัญไปลงทุนที่เวียดนามการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง จากการศึกษาพบว่าเวียดนามมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเหมือนกัน โรงไฟฟ้าที่เคยจะสร้างในอดีตทั้งถ่านหินและนิวเคลียร์ไม่สามารถสร้างได้ ทำให้ขาดแคลนพลังงานในเวียดนาม “ผมเชื่อว่าความรู้ที่เรามีอยู่สามารถไปสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ได้”

สำหรับการแข่งขันในเวียดนาม สารัชถ์ ย้ำว่าตอนนี้มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนจำนวนมาก  การแข่งขันก็มีในระดับหนึ่ง แต่จริงๆแล้วอยากให้บริษัทใหญ่ๆ ของไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามเหมือนกัน เพราะเวลาไปลงทุนต่างประเทศ เวลามีรายได้เข้ามาใกล้เคียงกับการส่งออกสิ่งของไป  ยอมรับต้องแข่งกับประเทศฝรั่งเศส รัสเซีย อังกฤษ ญี่ปุ่น จีน แต่ก็สู้ไหว ก่อนจะบอกว่าการลงทุนของกัลฟ์ในเวียดนามได้ใช้ เงินลงทุนไปประมาณเกือบๆ 20,000 ล้านบาท

สารัชถ์ บอกว่าการลงทุนในเวียดนามตอนนี้ เริ่มขายไฟฟ้าได้แล้วประมาณ 100 เมกะวัตต์  อีกภายใน 2 ปี คาดว่าจะขายไฟฟ้าได้อีกประมาณ 300 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นก็จะทยอยขายต่อไปเรื่อยๆภายใน 2-3 ปีนี้ เรามีโรงไฟฟ้า Solar รวม 130 เมกะวัตต์ โรงไฟ้าพลังงานลม 310 เมกะวัตต์

ปัจจุบัน กัลฟ์มีพอร์ตไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีอยู่ประมาณ 6,000-7,000 เมกะวัตต์ ที่กัลฟ์ถือโดยตรง แต่ถ้าเป็นการลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.3 หมื่นเมกะวัตต์ หลายโครงการก็มีญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุน ทำให้เงินกู้ราคาต่ำลง

 “จากนี้ไปกัลฟ์จะเน้นการลงทุนต่างประเทศ ทำให้เป็นบริษัทระดับภูมิภาคมากขึ้น” สารัชถ์ ย้ำ

สำหรับรายได้รวมของกัลฟ์ปี 2560 มีจำนวน 9,523 ล้านบาท มีกำไร 3,451.42  ส่วนปี 2561 มีรายได้รวมจำนวน 20,229 ล้านบาท กำไร 3,028.13  ล้านบาท ส่วนปี 2562 ในช่วงไตรมาสแรกมีรายได้รวม 7,815.89 ล้านบาท กำไร 1,292.69 ล้านบาท

สำหรับกัลฟ์ คือผู้บริหารโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล  ให้บริการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าแก่ลูกค้าทั้งภาครัฐ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) และภาคเอกชนในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมหลักๆ ของประเทศไทย นอกจากการผลิตไฟฟ้าแล้ว โครงการโรงไฟฟ้าบางแห่งยังผลิตไอน้ำ และน้ำเย็นให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมด้วย

นอกจากนี้  กัลฟ์ ยังให้บริการบริหารจัดการโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ ภายในกลุ่มบริษัท เริ่มตั้งแต่กระบวนการพัฒนา และก่อสร้างโครงการ ไปจนถึงการบริหารจัดการภายหลังที่โครงการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว

bbbbbbbb

จากข้อมูลพบว่าปัจจุบัน กัลฟ์ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในประเทศ และต่างประเทศทั้งสิ้น 27 โครงการ ได้แก่

  • โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 2 โครงการ
  • โครงการ SPP ก๊าซธรรมชาติ (Cogen) จำนวน 19 โครงการ
  • โครงการ VSPP พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop) จำนวน 4 โครงการ
  • โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 2 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)

โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนาจำนวน  6 โครงการ ได้แก่

  • โครงการ IPP ก๊าซธรรมชาติ จำนวน 2 โครงการ
  • โครงการ SPP ชีวมวล จำนวน 1 โครงการ
  • โครงการ Captive (ประเทศโอมาน) จำนวน 1 โครงการ
  • โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) จำนวน 1 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)
  • โครงการพลังงานลม จำนวน 1 โครงการ (ประเทศเวียดนาม)

ดังนั้น กัลฟ์ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ในประเทศ  เมื่อรวมกำลังการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าในแผนงานทั้งหมด ทั้งโครงการที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เตรียมการก่อสร้าง และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา จึงไม่แปลกที่กัลฟ์ ขึ้นแท่นเป็นผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ วัดจากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่มีอยู่

ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียนเวลานี้  

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight