COVID-19

วิจัยชี้ ‘โอไมครอน’ ทำเกิดภาวะ ‘ลองโควิด’ น้อยกว่า ‘เดลตา’

ผลวิจัยจากสหราชอาณาจักร ชี้ “โอไมครอน” มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะ “ลองโควิด” น้อยกว่าสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้า

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า คณะนักวิจัยจากวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร ได้ดำเนินการศึกษาข้ออมูลจากแอปพลิเคชัน “ZOE COVID Symptom” และพบว่า ในช่วงที่ไวรัสโควิด สายพันธุ์โอไมครอนระบาดในสหราชอาณาจักรนั้น มีผู้ติดเชื้อไวรัส ที่เกิดภาวะลองโควิด ลดลงราว 20-50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่สายพันธุ์เดลตาระบาด ซึ่งการเกิดภาวะนี้ แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย และช่วงเวลาที่ได้รับการฉีดวัคซีนครั้งล่าสุด

ภาวะลองโควิดจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และอาการดังกล่าวจะดำเนินต่อไปหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บรรดานักวิจัยต่างเร่งค้นหาคำตอบว่า การติดเชื้อไวรัสโอไมครอนมีความเสี่ยง ที่จะก่อให้เกิดภาวะลองโควิดเท่ากับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้หรือไม่

shutterstock 2142226923

ทีมวิจัยระบุว่า การศึกษาของคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ถือเป็นงานวิจัยทางวิชาการชิ้นแรก ที่แสดงให้เห็นว่า สายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงสูง ที่จะทำให้เกิดภาวะลองโควิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จำนวนผู้ป่วยลองโควิดกำลังลดน้อยลงแต่อย่างใด

นักวิจัยชี้ว่า แม้ความเสี่ยงของการเกิดภาวะลองโควิดจะลดลง ในช่วงที่ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาด แต่เมื่อประชาชนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็ทำให้จำนวนผู้ที่มีภาวะดังกล่าว เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ดร.แคลร์ สตีฟส์ หัวหน้าทีมวิจัย เรียกร้องต่อบรรดาผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขว่า การค้นพบครั้งนี้นับเป็นข่าวดี แต่อย่ายกเลิกบริการใด ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะลองโควิด

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษเปิดเผยเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ประชาชนจำนวน 438,000 คนในประเทศ มีอาการลองโควิดหลังติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งคิดเป็น 24% ของผู้ป่วยลองโควิดทั้งหมด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo