COVID-19

อาการตกค้าง!! วิจัยพบ ‘อดีตผู้ป่วยโควิด-19’ มีอาการตกค้าง แม้ผ่านไป 2 ปี

ผลการศึกษาจากวารสารการ แพทย์แลนเซต เรสพิราทอรี เมดิซิน (Lancet Respiratory Medicine)  ระบุว่าผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราวครึ่งหนึ่ง ยังคงมีอาการหลงเหลืออย่างน้อยหนึ่งอาการ แม้เวลาผ่านไป 2 ปีแล้ว

การศึกษาข้างต้นที่นับเป็นการเฝ้าติดตามโรคโควิด-19 เป็นระยะเวลานานที่สุด ระบุว่าอดีตผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในจีน จำนวน 1,192 ราย ซึ่งเข้าร่วมการศึกษาครั้งนี้ มีแนวโน้มสุขภาพและคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าประชากรทั่วไป

คณะนักวิจัยจากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่น สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน วิทยาลัยการแพทย์ปักกิ่งยูเนียน และคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชิงหัว ได้ประเมินสุขภาพระยะ 6 เดือน 12 เดือน และ 2 ปี ของอดีตผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มข้างต้น ซึ่งเคยรักษาตัวที่โรงพยาบาลจินอิ๋นถานในนครอู่ฮั่น ระหว่างวันที่ 7 มกราคม-29 พฤษภาคม 2020

getAttachment 50.jpg88888888888888888888888888888

 

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มดังกล่าว ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 57 ปี ตอนออกจากโรงพยาบาล เข้าร่วมการทดสอบเดิน 6 นาที การทดสอบในห้องปฏิบัติการ รวมถึงทำแบบสอบถามอาการ สุขภาพจิต คุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขภาพ การกลับไปทำงาน และการดูแลสุขภาพหลังออกจากโรงพยาบาล

การศึกษาพบ 68% รายงานอาการลองโควิด (long COVID) อย่างน้อย 1 อาการภายใน 6 เดือนหลังเริ่มป่วย ขณะ 55% รายงานอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง และนอนหลับยากภายในระยะ 2 ปี รวมถึงอาการอื่นๆ เช่น ปวดข้อ ใจสั่น เวียนหัว ปวดหัว และวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

“ผลวิจัยชี้ว่าผู้รอดชีวิตจากการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลจำนวนหนึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปี จึงจะฟื้นตัวโดยสมบูรณ์ แม้พวกเขาปลอดเชื้อไวรัสฯ แล้วก็ตาม” เฉาปิง ผู้เขียนผลการศึกษาหลักจากโรงพยาบาลมิตรภาพจีน-ญี่ปุ่นกล่าว

เหล่าผู้เชี่ยวชาญเผยว่าการศึกษาฉบับนี้อาจมีข้อจำกัด อาทิ ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการศึกษาอาจมีอาการป่วยน้อยกว่า ซึ่งอาจส่งผลให้การประเมินความชุกของอาการลองโควิดนั้นสูงเกินจริง ทว่ามันยังคงเผยความจำเป็นในการดูแลผู้ที่เคยป่วยโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

ที่มา:สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight