COVID-19

วิจัยชี้ ‘วัคซีนโควิด’ มีประสิทธิภาพต้าน ‘สายพันธุ์เดลตา’ ลดลง

การวิจัยด้านสาธารณสุขของอังกฤษระบุว่า “วัคซีนโควิด-19” ของแอสตร้าเซนเนกา และไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาลดลงภายในเวลา 3 เดือน

ผลวิจัยของ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่ใช้ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิดแบบป้ายคอ และจมูกในประชาชนกว่า 3 ล้านคนทั่วอังกฤษพบว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพลดลงเหลือ 61%  และ 75% ตามลำดับ หลังฉีดวัคซีนเข็มสองภายในเวลา 90 วัน จากเดิมที่มีประสิทธิภาพ 68% และ 85%

ประสิทธิภาพที่ลดลงนั้น มีความเด่นชัดในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มากกว่าในกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่านั้น

วัคซีนโควิด

วัคซีนโควิด ‘แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์’ ป้องกันได้ แต่ไม่สูงเท่าเดิม

อย่างไรก็ดี ซาราห์ วอล์คเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านเวชสถิติ และหัวหน้าผู้ตรวจสอบผลการศึกษาในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิดของแอสตร้าเซนนก้า และไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพ ป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้เป็นอย่างดี แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะรักษาประสิทธิภาพวัคซีนในระดับสูงเอาไว้ได้ดังเดิม

ขณะที่โคเอน เพาเวลส์ หนึ่งในคณะผู้เขียนผลการวิจัย จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมากยิ่งขึ้น วัคซีนป้องกันโรคโควิดที่มีอยู่ในขณะนี้ อาจมีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักได้ดีที่สุด และป้องกันการติดเชื้อได้ลดลงเล็กน้อย

ผลวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น จากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดส เนื่องจากพบว่ามีจำนวนเชื้อไวรัสโควิด อยู่ในระดับใกล้เคียงกับผู้ป่วยติดเชื้อ ที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นประสิทธิภาพที่ลดลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ในช่วงที่เชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาแพร่ระบาดรุนแรงในอังกฤษ

ทั้งนี้ ผลวิจัยดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ก่อนตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ยังเป็นการเน้นย้ำความวิตกกังวลของนักวิทยาศาสตร์หลายราย ที่ระบุว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองโดส มีอัตราติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และยังแพร่เชื้อ ให้แก่ผู้อื่นได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo