คณะนักวิจัยของจีนได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเร่งการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ให้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมแสดงภาพผลกระทบของโรคที่มีต่อปอดของผู้ป่วยอย่างชัดเจน
ปัจจุบันบรรดานักรังสีวิทยามากประสบการณ์ต้องใช้เวลานานถึง 15 นาที ในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 จากภาพเอ็กซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT) ราว 300 ภาพ
คณะนักวิจัยจากศูนย์การรับรู้ทางการมองเห็น (Visual Perception Center) สังกัดสถาบันปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้พัฒนาเครื่องมือสร้างภาพสามมิติต้นทุนต่ำเพื่อประมวล และสร้างภาพซีทีสแกน ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคโควิด-19 และอำนวยความสะดวกด้านการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย และแพทย์
คณะนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์พยายามค้นคว้าหาทางประมวลและสร้างภาพซีที/เอ็มอาร์ (CT/MR) ที่ทันสมัยด้วยการออกแบบให้ใช้งานง่ายและสมจริงยิ่งขึ้น โดยเครื่องมือสร้างภาพสามมิติดังกล่าวจะแสดงข้อมูลจำนวนมากที่ได้จากเครื่องสแกนซีที/เอ็มอาร์ออกมาเป็นภาพสามมิติ ขณะเดียวกันยังสามารถตรวจตราชุดข้อมูลต่างๆ ในเชิงโต้ตอบอีกด้วย
ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทจีนหลายแห่ง อาทิ เซนส์ไทม์ (SenseTime) ได้เปิดตัวระบบต่างๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วย เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพและความแม่นยำของการวินิจฉัยโรค
หม่าเหลยจากมหาวิทยาลัย ระบุว่า การสร้างภาพที่มีความเที่ยงตรงสูงจะมุ่งเน้นความสมจริงของภาพในเชิงโต้ตอบ โดยภาพสีสามมิติที่ได้จะให้ข้อมูลมากกว่าภาพขาว-ดำ ทำหน้าที่เสมือน “เครื่องขยาย” ให้เห็นรอยโรค (lesion) ในอวัยวะ และฉายภาพปอดของผู้ป่วยให้เห็นได้ชัดเจน
หม่าเผยว่าพวกเขาได้ปรับอัลกอริทึมให้เหมาะสมกับโครงสร้างทางสรีรวิทยาของปอด และสามารถฉายภาพจำลองแบบเรียลไทม์ ผู้ป่วยจะเห็นภาพสี สามมิติของปอดหลังสแกนโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติม โดยระบบยังสามารถแสดงรอยโรคและจุดทึบของปอดอย่างชัดเจนเสมือนภาพยนตร์สามมิติ
ชิวเจี้ยนซิง หัวหน้าแพทย์ประจำแผนกการสร้างภาพทางการแพทย์และรังสีวิทยา โรงพยาบาลแห่งที่ 1 ของมหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าเครื่องมือสร้างภาพสามมิติดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานของโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิที่มีนักรังสีวิทยามากประสบการณ์ประจำอยู่น้อยสะดวกยิ่งขึ้น
หม่าเสริมว่าโรงพยาบาลต่างๆ ในจีนต่างพึ่งพาเครื่องมือสร้างภาพจากต่างประเทศ ซึ่งมักมาพร้อมกับเครื่องซีทีสแกน แต่เครื่องมือสร้างภาพที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฯ จะตั้งอยู่บนหลักการของเครื่องมือประมวลภาพแสงและเงาที่ใช้การจำลองการหักเหของแสง (ray-tracing) ที่พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและการพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้า
ระบบใหม่นี้จะแม่นยำและว่องไวมากยิ่งขึ้น หากได้ผลตอบรับเชิงข้อมูลที่มากขึ้น โดยคาดว่าเครื่องมือจะสามารถแสดงสภาพโครงกระดูกและทางเดินหายใจ แยกหลอดเลือดแดงออกจากหลอดเลือดดำ และช่วยวิเคราะห์รอยโรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้ระบุตำแหน่งเนื้องอกในปอดและช่วยเหลือการผ่าตัดได้ด้วย
ที่มา : สำนักข่าวซินหัว
- นักลงทุนเดิมพัน ‘ใช้จ่ายเกี่ยวไวรัส’ พุ่ง หนุนลงทุน ‘เฮลธ์แคร์จีน’ เฟื่องฟู
- นักวิจัยอิสราเอลพัฒนาชุดทดสอบ ‘โควิด-19’ ทางลมหายใจ
- ดีขึ้นมาก! เปิดภาพก่อน-หลัง ‘ปอดคนไข้โควิด’ รักษาด้วย ‘พลาสมา’