World News

ถอดบทเรียน ‘วิกฤติศรีลังกา’ 9 ประเทศเสี่ยงตามรอย

เศรษฐกิจ และการเมืองในศรีลังกา เข้าสู่จุดวิกฤติอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อประชาชน บุกเข้ายึดบ้านพักผู้นำประเทศ กดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่ง ท่ามกลางภาวะขาดเเคลนสินค้าจำเป็น และราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

วีโอเอ รายงานว่า วิกฤติเศรษฐกิจศรีลังกา เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ผิดพลาด รวมถึงปัญหาทุจริตที่เรื้อรังมานาน ทั้งภาคการท่องเที่ยวของประเทศได้รับผลกระทบรุนเเรงเช่นกัน ตั้งแต่เหตุระเบิดโจมตีโบสถ์วันอีสเตอร์ ที่คร่าชีวิตเหยื่อกว่า 260 คน เมื่อ 3 ปีก่อน

shutterstock 2145772931

ในขณะที่รัฐออกมาตรการกระตุ้นรายได้เพื่อชดเชยภาระหนี้ต่างชาติ ที่ใช้ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทางการใช้มาตรการลดภาษี และในเวลาต่อมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทรุดลงต่อเนื่องหลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19

ศรีลังกาเดินทางมาสู่การพังครืนของเศรษฐกิจ กับหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ ที่ไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมัน อาหารรวมถึงของใช้จำเป็นอีกหลายชนิด โดยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57% ในตอนนี้รัฐเร่งหาเงินมากู้เศรษฐกิจ จากการเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

คำถามที่ตามมาคือ หากพิจารณาประเทศต่าง ๆ ในโลก มีประเทศใดบ้าง ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกับศรีลังกา เพราะหลายแห่งมีการบริหารจัดการ และพื้นฐานการเงินที่ไม่สามารถรับมือมรสุมจากเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่าง ในช่วงเวลาที่ทั่วโลก กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้

ข้อมูลจากกลุ่ม Global Crisis Response Group ในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า นับถึงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีประชากรโลก 1,600 ล้านคน ใน 94 ประเทศ ต้องเผชิญกับวิกฤติด้านอาหาร พลังงาน เเละระบบการเงิน อย่างน้อย 1 เหตุการณ์

ทั้งในบรรดาประชากร 1,600 ล้านคน ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอยู่ 1,200 ล้านคน ที่อยู่ภายใต้องค์ประกอบที่ครบถ้วนของ “พายุ” ที่จะสั่นคลอนวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างร้ายเเรง ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น และผลกระทบระยะยาวด้านอื่น ๆ

ประเทศ 9 เเห่ง ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงรุนเเรงมากที่สุด ได้เเก่ อัฟกานิสถาน อาร์เจนตินา อียิปต์ ลาว เลบานอน เมียนมา ปากีสถาน ตุรกี และซิมบับเว

shutterstock 1516212029
อิมราน ข่าน

สำหรับประเทศในเอเชีย ที่ปากีสถานถูกกล่าวถึง เนื่องจากปากีสถาน กำลังเจรจากับไอเอ็มเอฟเช่นเดียวกับศรีลังกา ในความพยายามที่จะต่ออายุเงินช่วยเหลือ 6,000 ล้านดอลลาร์ หลังโครงการช่วยเหลือดังกล่าวหยุดชะงักลง จากการที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีอิมราน ข่าน ถูกขับออกไปเมื่อเดือนเมษายน

ปากีสถานยังต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อในประเทศ ที่พุ่งสูงถึง 21% และค่าเงินรูปีที่อ่อนลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารโลก ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจมหภาคของปากีสถาน กำลังเอนเอียงอย่างรุนเเรงไปสู่ทิศทางขาลง

สำหรับเมียนมา รายงานชี้ว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยที่รุมกระหน่ำเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะตั้งเเต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่เเล้ว

ผลจากการยึดอำนาจของทหารคือ โลกตะวันตกใช้มาตรการลงโทษต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

shutterstock 211476646 1
เศรษฐกิจเมียนมา

เมื่อปี 2564 เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวมากถึง 18% เเละอาจจะเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในปีนี้ ยังไม่รวมถึงความลำบากของประชากรกว่า 700,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นที่อยู่ของตน เนื่องจากความขัดเเย้งที่ใช้อาวุธหนักปะทะกัน และจากความรุนเเรงทางการเมือง

ในส่วนของลาว ประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีดินเเดนติดทะเล ซึ่งเคยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุด จนกระทั่งเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากตกงาน และเช่นเดียวกับศรีลังกาหนี้ของลาวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลต้องเข้าสู่การเจรจากับไอเอ็มเอฟ ทั้งค่าเงินกีบของประเทศ ก็อ่อนค่าลงถึง 30%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo