World News

ยุโรป-อเมริกาเหนือ ผวา! พบผู้ป่วย ‘โรคฝีดาษลิง’ หลายสิบคน หวั่นเกิดการระบาดในท้องถิ่น

อเมริกาเหนือ-ยุโรป วิตกหนัก เจอผู้ป่วย “โรคฝีดาษลิง” หลายสิบคน ขณะ “สหรัฐ” ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรก ทำให้เกิดความกังวลว่า การระบาดของโรคในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของแอฟริกา กำลังกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐ กลายเป็นประเทศล่าสุด ที่ตรวจพบผู้ป่วย “โรคฝีดาษลิง” รายแรกของประเทศ เป็นผู้ป่วยชาย ในรัสแมสซาชูเซตส์ ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากแคนาดา ประเทศที่เพิ่งรายงานถึงการสอบสวนโรคผู้ต้องสงสัยว่า จะเป็นโรคนี้มากกว่า 12 คน โดยที่สเปน และโปรตุเกส รายงานการพบผู้ป่วยโรคนี้ และต้องสงสัยว่าจะเป็นโรคมากกว่า 40 คน

โรคฝีดาษลิง

ส่วนอังกฤษ ยืนยันการพบผู้ป่วย 9 ราย มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยรายแรก เป็นบุคคลที่เดินทางมาจากไนจีเรีย และรายต่อ ๆ มา มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดจากการติดเชื้อในชุมชน

ดร.ซูซาน ฮอปกินส์ หัวหน้าที่ปรึกษาทางการแพทย์ สำนักงานความมั่นคงสาธารณสุข สหราชอาณาจักร (ยูเคเอชเอสเอ) ระบุว่า บรรดาผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่ตรวจพบล่าสุด ประกอบกับการรายงานพบผู้ป่วยหลายราย ในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป ตอกย้ำถึงความกังวลก่อนหน้านี้ ที่ว่า กำลังเกิดการระบาดของโรคนี้ในประเทศ

ต้องสงสัย ‘โรคฝีดาษลิง’ ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ 

ทางด้าน องค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า การศึกษาถึงการติดเชื้อนี้ เบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ ในชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตรวจสอบอย่างเหมาะสมต่อไป เพื่อทำความเข้าใจถึงการระบาดในท้องถิ่น ทั้งในสหราชอาณาจักร และในบางประเทศ

อนามัยโลก เปิดเผยด้วยว่า กำลังประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของอังกฤษและยุโรป เกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษลิง แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะฟื้นตัว และหายในไม่กี่สัปดาห์ แต่โรคฝีดาษลิงระบาดในแอฟริกา และพบได้ยากในยุโรป รวมถึงอเมริกาเหนือ

โรคฝีดาษลิง

อย่างไรก็ดี ยูเคเอชเอสเอ ตั้งข้อสังเกตว่า ไม่เคยมีการระบุว่า โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เน้นให้ว่า โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดยตรง ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ มีโอกาสติดต่อสู่คนแต่น้อยมาก ผ่านการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่เป็นโรค ลักษณะอาการคล้ายไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า และมีน้อยรายมาก ที่จะเกิดอาการป่วยหนัก โดย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้ มีโอกาสเสียชีวิตราว 1%-10%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo