World News

‘เอเชีย’ ยังงง!! ‘ปูติน’ สั่งขายพลังงาน ด้วย ‘รูเบิล’ นักวิชาการชี้ ไม่ช่วยพยุงค่าเงิน

บรรดาชาติเอเชีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ หลังจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศว่า ประเทศที่มีจุดยืน “ไม่เป็นมิตร” กับรัสเซีย จะต้องจ่ายค่าซื้อพลังงานจากรัสเซีย ด้วยเงินสกุลรูเบิล นับเป็นแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดพลังงานโลกรอบใหม่ หลังการบุกยูเครนของรัสเซีย

ประธานาธิบดีปูติน ระบุว่า จะจัดสรรน้ำมัน และก๊าซให้กับประเทศต่าง ๆ ในกรอบราคาตามสัญญาการซื้อขายที่ทำไว้ เพียงแต่จะให้จ่ายเงินรูปแบบสกุลเงินรูเบิลแทน

วีโอเอ รายงานว่า ในขณะนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน อยู่ในรายชื่อประเทศ หรือดินแดน ที่มีจุดยืน “ไม่เป็นมิตร”  กับรัสเซีย และทั้งหมดพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการซาคาลิน 2 (Sakhalin-2) และ ยามาล แอลเอ็นจี (Yamal LNG) ทางตะวันออกของรัสเซีย

shutterstock 1785976886

ยังไม่มีความชัดเจน “ปูติน” สั่งขายพลังงาน ด้วย “รูเบิล”

กรณีของญี่ปุ่น ในฐานะผู้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากรัสเซีย รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ยังไม่ชัดเจนว่า รัสเซียจะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้อย่างไร โดยนายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ยังอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์นี้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และยังไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของรัสเซีย รวมถึงวิธีดำเนินมาตรการดังกล่าว

ด้านโฆษก เจรา (JERA) บริษัทนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ระบุว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลจากทางซาคาลิน เอเนอร์ยี ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ที่ดำเนินโครงการซาคาลิน 2 ว่า จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินจากสกุลเงินดอลลาร์ เป็นรูเบิลแต่อย่างใด ส่วนโฆษกของโตเกียว ก๊าซ และโอซากา ก๊าซ บอกว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการชำระเงินด้วยสกุลเงินรูเบิล

ข้อมูลของ รีฟินิทีฟ ผู้ให้บริการข้อมูลตลาดการเงินและโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก แสดงให้เห็นว่า เมื่อปีที่แล้ว ญี่ปุ่นนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี จากรัสเซีย 6.84 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 9% ของปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีที่ญี่ปุ่นนำเข้าทั้งหมด

ทั้งนี้ ซาคาลิน เอเนอร์ยี เป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซาคาลิน 2 มีบริษัทแก๊สพรอมของรัสเซีย ถือหุ้น 50% และเชลล์l ถือหุ้น 27.5% ส่วนที่เหลือเป็นของบริษัทมิตซุย แอนด์โค และมิตซูบิชิ คอร์ปของญี่ปุ่น

แต่เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเชลล์ ประกาศถอนตัวจากโครงการดังกล่าว ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อการนำเข้าพลังงานของประเทศ ส่วนทางมิตซุย และมิตซูบิชิ ยังติดตามรายละเอียดจากรัสเซียอยู่

shutterstock 374037175

ส่วนกรณีของเกาหลีใต้ ประเทศผู้นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีรัสเซีย มากสุดเป็นอันดับสามของเอเชีย คาดว่า จะสามารถนำเข้าพลังงานจากรัสเซียได้ต่อไป ตามการยืนยันจากคณะกรรมการบริการการเงิน หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของเกาหลีใต้ ที่ระบุว่า จะทำทุกวิถีทางเพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงาน

ขณะที่ โคเรีย ก๊าซ คอร์ป เปิดเผยว่า ในแต่ละปี บริษัทนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากรัสเซีย จำนวน 2 ล้านตัน หรือราว 6% ของปริมาณนำเข้าโดยรวมของบริษัท อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่ได้ทำธุรกรรมโดยตรงกับรัฐบาลรัสเซีย แต่จัดทำผ่านซาคาลิน เอเนอร์ยี และชำระเงินผ่านธนาคารญี่ปุ่นในสิงค์โปร์ ซึ่งทางบริษัทยังไม่พบปัญหาในการซื้อขายพลังงานในขณะนี้ แต่ยังคงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

ส่วนบริษัทซีพีซี คอร์ป ของรัฐบาลไต้หวัน มีกำหนดการจัดส่งน้ำมันจากรัสเซีย ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งบริษัทยืนยันว่า ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับระบบการชำระเงิน ที่จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน

ชี้ไม่ช่วยพยุงค่าเงินรูเบิล

การประกาศปรับระบบการชำระเงินค่าพลังงาน ให้อยู่ในรูปสกุลเงินรูเบิลดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นวิถีทางของประธานาธิบดีปูติน ที่พยายามพยุงค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ซึ่งอ่อนค่าลงอย่างหนัก หลังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายปูติน กล่าวว่า รัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซีย มีเวลา 1 สัปดาห์ในการหาหนทางแก้ปัญหาค่าเงินร่วงหนัก และว่าบริษัทก๊าซพรอมต้องหาทางปรับแก้สัญญาการซื้อขายพลังงานด้วย

shutterstock 2060030444

อย่างไรก็ตาม นายเอสวาร์ พราสาด นักวิชาการด้านนโยบายการค้า จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในสหรัฐ มองว่า กลยุทธ์ดังกล่าวไม่น่าจะได้ผลกับรัสเซีย เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย จะยินดีที่จะจ่ายค่าซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียด้วยสกุลเงินที่อ่อนค่าอย่างรุนแรงอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่เรื่องที่ท้าทายกว่า คือ การเข้าถึงค่าเงินรูเบิล โดยไม่เป็นการละเมิดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของนานาประเทศ และว่าการจ่ายค่าพลังงานด้วยเงินรูเบิลแทบจะมีผลน้อยมาก ในการแก้ปัญหาค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงของรัสเซีย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo