World News

‘ไอเอ็มเอฟ’ มอง ‘วิกฤติยูเครน’ ทำ ‘เศรษฐกิจเอเชีย’ ผันผวนมากขึ้น ชี้ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งกระทบ ‘ราคาน้ำมัน’

“ไอเอ็มเอฟ” ระบุ เหตุขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจเอเชีย ที่ต้องต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และรับมือกับภาวะการเงินตึงตัวอยู่แล้ว มีความไม่แน่นอนมากขึ้น 

นายชางยอง รี ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวว่า ขณะนี้ไอเอ็มเอฟ กำลังประเมินถึงผลกระทบที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับยูเครน มีต่อเศรษฐกิจเอเชีย ในด้านต่างๆ แต่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเพราะยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก

shutterstock 1613613748

อย่างไรก็ดี เขามองว่า ผลกระทบที่สำคัญที่สุด ที่จะมีต่อเศรษฐกิจเอเชีย คือ ราคาโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน พร้อมเตือนว่า ยิ่งวิกฤติยูเครนยืดเยื้อไปนานเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลต่อราคาน้ำมันมากเท่านั้น และภาวะผันผวนในราคาน้ำมัน ก็จะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก

ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟรายนี้ ยังมองว่า อินโดนีเซีย ที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นจำนวนมาก จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวมากนัก ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างมาก จะได้รับผลกระทบในด้านลบค่อนข้างมาก

สำหรับจีนนั้น นายรี ชี้ว่า น่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากวิกฤติยูเครนค่อนข้างน้อย ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นมานั้น จะส่งผลกระทบต่อจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป อาจส่งผลกระทบทางอ้อม ต่อการส่งออกของจีน

แต่จีนอาจสนับสนุนให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับลดการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระยะยาว และเป้าหมายระยะสั้นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 ที่ 5.5%

พร้อมกันนี้ นายรี ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย ลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง ที่มีแนวโน้มว่า ผลประโยชน์จะตกไปอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นกลุ่มที่บริโภคพลังงานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ และขอให้นำนโยบายที่มุ่งเป้าในเรื่องการเงินเข้ามาใช้ เพื่อสนับสนุนครัวเรือนฐานะยากจน ที่จำเป็นต้องรับมือกับราคาอาหารที่สูงขึ้น ในช่วงวิกฤติเช่นนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo