World News

‘วิกฤติโควิด’ ทำ ‘เศรษฐกิจไทย’ ทรุด เตือน ‘เอสเอ็มอี’ 80% อาจล้มละลาย

สื่อต่างประเทศ ตีข่าว “วิกฤติโควิด” ระลอกล่าสุด ทำ “เศรษฐกิจไทย” ทรุด ส่งผลต่อ “เอสเอ็มอี” หนักกว่าเมื่อปีที่แล้ว ชี้ หากยืดเยื้อถึงสิ้นปี 2564 อาจทำให้ “เอสเอ็มอี” มากถึง 80% ล้มละลาย 

วันนี้ (6 ก.ค.) บลูมเบิร์ก รายงานอ้างการแสดงความเห็นของนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช  ประธาน สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ระบุว่า สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดในปี 2564 ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รุนแรงกว่าการระบาดเมื่อปี 2563 และผู้ประกอบการนับล้านราย กำลังเผชิญปัญหา และหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี 2564 จะทำให้ร้อยละ 80 ของธุรกิจถึงคราวล้มละลาย

รายงานของบลูมเบิร์กกล่าวถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทยว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่ทางการไทย ใช้มาตรการปิดประเทศในปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ

เศรษฐกิจไทย

ด้วยสถานการณ์ล่าสุดที่ผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตยังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทางการไทยต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2564

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรียกร้องหลายครั้ง ให้มีการเสริมสภาพคล่องของเอสเอ็มอี เพราะมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความพยายามจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มูลค่ารวมหลายพันล้านดอลลาร์ การพักชำระหนี้ และข้อเสนอให้ค้ำประกันหนี้ จะช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า การเติบโตของสินเชื่อในธุรกิจขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 10 ต่อปี ส่วนในภาคครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี แต่กลุ่มที่หดตัวลงคือเอสเอ็มอี

ข้อมูลของทางการไทย เมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า ไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอี จำนวน 3.1 ล้านราย มีคนทำงาน 12.7 ล้านคน แต่หอการค้าไทย เชื่อว่าจำนวนเอสเอ็มอี ที่แท้จริง อาจอยู่ที่ 5 ล้านธุรกิจ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการอีกมาก ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทางการ

ในเดือน มิถุนายน 2564  ธปท. ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 จากร้อยละ 3 เหลือร้อยละ 1.8 ท่ามกลางการบริโภคที่อ่อนแอ และการปรับลดแนวโน้มภาคการท่องเที่ยวหลายครั้ง

ก่อนที่โลกจะเผชิญวิกฤติโรคระบาดโควิด-19  ไทยเคยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

แต่ในปี 2564 คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนไทยเพียง 700,000 คน เทียบกันไม่ได้กับปี 2562 หรือปีสุดท้ายก่อนเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งในปีนั้นประเทศไทย ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน

เศรษฐกิจไทย
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ภาพ : ธนาคารแห่งประเทศไทย)

เจ้าของธุรกิจเพนท์ลวดลายบนร่างกาย วัย 34 ปี รายหนึ่ง ที่มีลูกค้ากลุ่มหลักเป็นชาวต่างชาติ ตัดสินใจปิดกิจการของเธอ ในพัทยา และภูเก็ตเมื่อปี 2563 และต้องเลิกจ้างพนักงานถึงร้อยละ 70 ปัจจุบันยังเหลือกิจการ 3 แห่งในตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพมหานคร แต่มีรายได้เหลือเพียงร้อยละ 10 จากที่เคยทำได้ โดยเธอบอกว่า ต้องการขอสินเชื่อเพื่อต่ออายุให้ธุรกิจของตน แต่ก็ไม่รู้ว่าธนาคารจะอนุมัติหรือไม่ และถ้าไม่ได้ ในปีนี้ธุรกิจก็คงไม่รอด

เธอ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยชดเชยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ สิ่งที่รัฐบาลเสนอมา เป็นเพียงการปรับโครงสร้างหนี้ และเงินกู้ รัฐบาลกำลังผลักดันให้ผู้ประกอบการสร้างหนี้ ในขณะที่แทบไม่มีรายได้

ทั้งนี้ มาตรการบรรเทาหนี้ล่าสุดสำหรับเอสเอ็มอี ได้แก่ สินเชื่อกู้ดอกเบี้ยต่ำ สำหรับปรับโครงสร้างธุรกิจ มูลค่ารวม 250,000 ล้านบาท และอีก 100,000 ล้านบาทสำหรับการตั้งคลังสินทรัพย์ ซึ่งธุรกิจที่ประสบปัญหาสามารถฝากสินทรัพย์ ที่มีปัญหาไว้ชั่วคราวแล้วรับเงินกู้ไป

เนื่องจากมาตรการดังกล่าวมีผลมาตั้งแต่ปลายเดือน เมษายน  2564 มีการใช้ประมาณร้อยละ 24 ของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำประมาณร้อยละ 24 และน้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่วางแผนไว้สำหรับแผนสินทรัพย์ และคลังสินทรัพย์

นายเศรษฐพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ความต้องการคลังสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นภายหลัง ขณะที่ข้อมูลจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หนี้ธนาคารของธุรกิจขนาดย่อมอยู่ที่รวม 3.5 ล้านล้านบาท รวมถึง 240,000 ล้านบาท อันเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และยังมีอีก 440 ล้านบาทสูงขึ้นเล็กน้อย และอาจซบเซาภายในสิ้นปี 2564 หากเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น

เศรษฐกิจไทย
นริศ สถาผลเดชา

ทางด้าน นายนริศ สถาผลเดชา นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า สภาพคล่องไม่ใช่ยาวิเศษที่จะรักษาได้ทุกโรค ผู้ที่จะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำคือ ธุรกิจที่มีแนวโน้มรายได้เป็นบวก แต่หากยังอยู่ในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร หรือไม่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นบวก ก็ไม่น่าจะได้รับ ธนาคารต้องระมัดระวังในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่มีใครอยากแบกรับหนี้เสียจำนวนมาก เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย

รายงานข่าวปิดท้ายด้วยความเห็นของ นายเศรษฐพุฒิ ที่ว่า ไม่ใช่เอสเอ็มอีทั้งหมด ที่จะได้รับการอนุมัติสำหรับมาตรการบรรเทาทุกข์ ที่น่าจะได้คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอดได้จนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจที่ได้รับเงินกู้แล้วจะอยู่รอดได้ หากให้ยืมสิ่งที่มีกับทุกกลุ่ม อาจทำให้ผู้ที่มีโอกาสรอดชีวิตล้มเหลวได้เช่นกัน ทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo