World News

ไม่มากพอ! ‘สหรัฐ’ ลดอันดับ ‘ไทย’ อยู่ ‘เทียร์ 2 เฝ้าระวัง’ ค้ามนุษย์ ‘กต.’ ผิดหวัง ยันคืบหน้า

“กระทรวงการต่างประเทศ” ผิดหวัง “สหรัฐ” ลดอันดับไทย ลงมาอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2 เฝ้าระวัง” ในด้านการค้ามนุษย์ ยืนยัน มีความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ วิจารณ์การจัดอันดับ ไม่ได้สะท้อนอย่างเป็นธรรม ถึงความพยายาม และพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม

วันนี้ (2 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ ออกแถลงการณ์ ถึงกรณีที่ สหรัฐ จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่ม “เทียร์ 2 เฝ้าระวัง” (Tier 2 Watch List) ใน รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2564 โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ ในการกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ แต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะทำเช่นนั้น

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไทยรับทราบการจัดระดับดังกล่าว ซึ่งลดระดับไทยจากกลุ่ม “เทียร์ 2” (Tier 2)  เมื่อปีที่แล้ว มาอยู่ใน เทียร์ 2 เฝ้าระวัง ในปีนี้ และรู้สึกผิดหวัง ที่การจัดระดับไม่ได้สะท้อนอย่างเป็นธรรม ถึงความพยายาม และพัฒนาการความคืบหน้า ที่เป็นรูปธรรมของไทย ในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ค้ามนุษย์

อย่างไรก็ดี การจัดทำรายงานการค้ามนุษย์ ( Trafficking in Persons Report) หรือ  TIP Report เป็นการประเมิน และจัดระดับประเทศต่าง ๆ จากมุมมองของสหรัฐ ซึ่งไม่ได้ได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง กับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การดำเนินการเรื่องนี้ของไทยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย และเพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแล และป้องกันไม่ให้ชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในไทย ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทย มีพัฒนาการความคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 แม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยก็มีพัฒนาการเชิงคุณภาพอย่างมีนัยสำคัญในทั้ง 3 ด้าน ได้แก่

  • การดำเนินคดี

มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เวลาน้อยลง โดยการพิจารณาคดีกว่าร้อยละ 90 เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 1 ปี การลงโทษผู้กระทำผิดมีอัตราโทษที่สูงขึ้น โดยมีจำนวนผู้ได้รับโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 67 ของผู้กระทำผิดที่ได้รับโทษจำคุกทั้งหมด มีการให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่กระทำความผิด และการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ทางออนไลน์ ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

  • การคุ้มครองดูแลผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

ไทยยังคงยึดหลักการให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง (victim-centered approach) และคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจ (trauma-informed care) โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการจัดบริการและคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย

ค้ามนุษย์

  • การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์

โดยเฉพาะการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ได้ขยายเวลา อนุญาตให้สามารถอยู่ในประเทศ และทำงานได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 จำนวน 240,572 คน ทำให้แรงงานได้รับการคุ้มครอง/ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย และลดความเสี่ยงตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

นอกจากนี้ ยังออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลแรงงาน อาทิ การยกระดับมาตรฐานที่พักอาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกในเรือประมง และการอำนวยความสะดวกการออกหนังสือคนประจำเรือ

ทั้งยังจัดฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเสี่ยงถูกแสวงหาประโยชน์ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลไทยจะเดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรม ที่ไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ขณะเดียวกัน ไทยพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีเจตนาสร้างสรรค์ ทั้งภายในไทย และต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในที่สุด

ค้ามนุษย์

พยายามจัดการ “ค้ามนุษย์” แล้ว แต่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำ 

ทั้งนี้  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี  2564 เมื่อวานนี้ (1 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น  โดยให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวัง โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ ในการกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ แต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะทำเช่นนั้น

รายงานระบุว่า ไทยได้ปรับปรุงการประสานงาน กับภาคประชาสังคม ในการสืบสวนการค้ามนุษย์ และคุ้มครองผู้เสียหาย  ฝึกอบรม และการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับอัยการ และผู้พิพากษา เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน  มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ จัดตั้งคณะทำงานเพื่อคุ้มครองเหยื่อ และกลไกการส่งต่อระดับชาติ และจัดตั้งหน่วยงานตำรวจ เพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านสื่อออนไลน์

แต่เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อนพบว่า รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น ทั้งพบว่า มีการสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยน้อยลง และมีการตัดสินคดีค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2562 แม้จะมีรายงานอย่างกว้างขวางว่า มีการบังคับใช้แรงงานในหมู่แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

รัฐบาลระบุเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์ และรัฐบาลยังขาดขั้นตอนมาตรฐาน สำหรับผู้ตรวจแรงงาน ในการส่งต่อคดีที่เป็นไปได้ ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

นอกจากนี้ ทางการไทยยังไม่เคยรายงานการระบุตัวเหยื่อ การบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงที่ท่าเรือ การให้บริการแก่เหยื่อยังคงไม่เพียงพอ และเหยื่อบางรายที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาล ยังขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ทุจริต และสมรู้ร่วมคิด ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์

โควิดทำ ค้ามนุษย์ รุนแรงขึ้น

ทางด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์ของโควิด-19 ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนให้ปัญหาการค้ามนุษย์รุนแรงขึ้น  เนื่องจากรัฐบาลโยกย้ายทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ไปสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุขและสังคม เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ ที่กลายเป็นการเปิดช่องว่างให้ขบวนการค้ามนุษย์ ใช้ประโยชน์จากคนที่อ่อนแอได้โดยง่าย

รายงานการค้ามนุษย์ ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นการจัดลำดับประเทศต่าง ๆ โดยยึดหลักการพิจารณาจากความพยายาม ในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากผู้คนทั่วโลกเกือบ 25 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ดังนั้น ปัญหานี้จึงเป็นวิกฤติระดับโลก

ทั้งนี้  รายงานค้ามนุษย์ของสหรัฐ จัดอันดับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตามการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือ TVPA

ค้ามนุษย์
แอนโทนี บลิงเคน

6 ประเทศ ร่วงจาก เทียร์ 1 มาอยู่เทียร์ 2

  • ไซปรัส
  • อิสราเอล
  • นิวซีแลนด์
  • นอร์เวย์
  • โปรตุเกส
  • สวิตเซอร์แลนด์
2 ประเทศระดับเทียร์ 2 ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย แต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนด
  • กินี-บิสเซา
  • มาเลเซีย

4 ประเทศ ขยับจากเทียร์ 3 ไปอยู่ในกลุ่ม เทียร์ 2 เฝ้าระวัง

  • เบลารุส
  • บุรุนดี
  • เลโซโท
  • ปาปัวนิวกินี

ค้ามนุษย์

ประเทศระดับเทียร์ 3

  • เกาหลีเหนือ
  • อัฟกานิสถาน
  • เมียนมา
  • จีน
  • คิวบา
  • เอริเทรีย
  • อิหร่าน
  • รัสเซีย
  • ซูดานใต้
  • ซีเรีย
  • เติร์กเมนิสถาน

สำหรับประเทศในกลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มระดับล่างสุดของการจัดอันดับนั้น สหรัฐ ระบุว่า รัฐบาลของกลุ่มนี้ มีนโยบาย หรือมีรูปแบบของการค้ามนุษย์ ในโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งการบังคับใช้แรงงาน การค้าทางเพศในค่ายของรัฐบาล หรือ การจ้างหรือเกณฑ์ทหารเด็ก

นายบลิงเคน กล่าวว่า รัฐบาลควรปกป้อง และให้บริการพลเมืองของตน ไม่ใช่ข่มขู่ และปราบปรามพวกเขาเพื่อผลกำไร และว่า สหรัฐ อาจจำกัดความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศแก่กลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติของประธานาธิบดี

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ยังมีการระบุว่า หลายประเทศรวมทั้งเคนยา มาเลเซีย และไทย มีการกักขังคนงานชาวเกาหลีเหนือเพื่อบังคับใช้แรงงาน ขณะที่รัฐบาลรัสเซียมีนโยบายสนับสนุนการบังคับใช้แรงงานของคนงานชาวเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน

ส่วนจีนยังคงล้มเหลวในการพยายามระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo