World News

คาด ‘โอเปกพลัส’ เพิ่มผลิตน้ำมันดิบ 500,000 บาร์เรล/วัน ส.ค. นี้

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) และชาติพันธมิตร หรือโอเปคพลัส จะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้  ซึ่งจะกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในเดือนสิงหาคม  โดยคาดว่า จะพิจารณาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ความต้องการน้ำมันจากสหรัฐ ยุโรป และจีน รวมทั้ง แนวโน้มที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาด

นายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ยอมรับว่า การเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 กับอิหร่าน ยังคงมีประเด็นที่ต้องหารือกันต่อไป แต่เขาหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความคืบหน้ามากขึ้นในการเจรจาครั้งต่อไป

หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลง ก็จะทำให้สหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน และส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันอีกครั้ง

shutterstock 1292223100

ขณะที่นักวิเคราะห์ จากเอเอ็นแซด ธนาคารออสเตรเลีย  และไอเอ็นจี ธนาคารชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ คาดการณ์ว่า โอเปคพลัส จะตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งหากเป็นจริง ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นต่อไป

แต่หากโอเปกพลัสตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่านั้น ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเกิดการปรับฐานครั้งใหญ่

การคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์ความต้องการน้ำมันโลก ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า ทั่วโลกจะต้องการน้ำมันจากกลุ่มโอเปคพลัส มากขึ้น เนื่องจากความต้องการน้ำมันทั่วโลก จะเริ่มกลับสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในช่วงสิ้นปีหน้า

“โอเปกพลัสจำเป็นต้องเพิ่มการผลิตน้ำมัน เพื่อให้ตลาดโลกมีปริมาณน้ำมันที่เพียงพอ” IEA ระบุ และเสริมว่า ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และนโยบายระยะสั้นของประเทศต่าง ๆ นั้น ตรงกันข้ามกับการเรียกร้องของ IEA ก่อนหน้านี้ ที่ให้ยุติการลงทุนด้านการผลิตน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน

IEA ระบุในรายงานน้ำมัน ประจำเดือนมิถุนายนว่า ในปี 2565 กลุ่มโอเปคพลัสซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 24 ชาติ นำโดยซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย จะต้องปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบอีก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ สำหรับปริมาณการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2564-มีนาคม 2565

ทั้งนี้ กลุ่มโอเปคพลัสได้ตกลงกัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า จะค่อย ๆ ยอมให้มีการปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม และได้ยืนยันการตัดสินใจดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา

IEA ระบุว่า การรองรับความต้องการน้ำมันที่ฟื้นตัวนั้น ไม่มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหา โดยคาดว่าโอเปคพลัส ยังคงมีกำลังการผลิตน้ำมันสำรองอีก 6.9 ล้านบาร์เรลต่อวันหลังจากเดือนกรกฎาคม และการเจรจาข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่าน กับประเทศมหาอำนาจของโลก อาจทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง หากสหรัฐยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

IEA คาดว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และเพิ่มขึ้นอีก 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า หลังจากที่ความต้องการน้ำมันทรุดตัวลงรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ชัตดาวน์เศรษฐกิจ ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo