World News

‘อองซาน ซูจี’ กับวิบากกรรมไม่จบสิ้น

ชื่อของ “อองซาน ซูจี” กลับมาอยู่ในความสนใจของชาวโลกอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง จากการเกิดรัฐประหารในเมียนมา และเธอ ในฐานะ “สัญลักษณ์” แห่งประชาธิปไตยของประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถูกกองทัพควบคุมตัวไว้

สถานการณ์ที่ “อองซาน ซูจี” กำลังเผชิญอยู่ เหมือนกับการเดินก้าวถอยหลัง กลับไปสู่การ “ต่อสู้” เพื่อ “ประชาธิปไตย” ที่เธอทำมาเกือบค่อนชีวิต

ซูจี เป็นลูกสาวของ “นายพลอองซาน” วีรบุรุษนักสู้เพื่อเอกราชของเมียนมา เขาถูกลอบสังหารเมื่อเธออายุเพียง 2 ขวบ ก่อนเมียนมาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 2491

อองซาน ซูจี

นับตั้งแต่เล็ก ซูจีใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะเดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิดในปี 2531 เมื่ออายุได้ 43 ปี เพื่อมาเยี่ยมมารดา ซึ่งช่วงเวลาที่เธอเดินทางกลับมานั้น เมียนมา หรือ พม่าในขณะนั้น เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งกดดันให้นายพลเนวินต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครอง ประเทศพม่ามานานถึง 26 ปี

ซูจีเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตอนที่เดินทางกลับมาพม่าเมื่อปี 2531 นั้น เธอวางแผนไว้ว่าจะมาริเริ่ม ทำโครงการเครือข่ายห้องสมุด ในนามของบิดา โดยไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองแต่อย่างใด แต่การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในประเท  และการเป็นลูกสาวของนายพลอองซาน ทำให้เธอรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าร่วมด้วย

เธอเคยได้รับการยกย่องว่าเป็น ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวผู้ยึดมั่นในหลักการ ผู้ยอมสูญเสียอิสรภาพ ถูกคุมขัง และกักบริเวณในบ้านพัก เกือบ 15 ปี ระหว่างปี  2532-2553 เพื่อท้าทายบรรดานายพล ที่ปกครองเมียนมามาหลายทศวรรษ

ในปี 2534 ซูจีได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ขณะที่ถูกจองจำในบ้านพักของตัวเอง ในนครย่างกุ้ง โดยได้รับการเชิดชูว่าเป็น “ตัวอย่างที่โดดเด่นของพลกำลังของคนไร้อำนาจ”

ซูจี ยังได้รับรางวัลสำหรับการยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ รางวัลราฟโต (Rafto Prize) และรางวัลซาฮารอฟ สำหรับเสรีภาพทางความคิด (Sakharov Prize for Freedom of Thought) ในปี 2533

ปี 2535 เธอได้รับรางวัลชวาหระลาล เนห์รู เพื่อความเข้าใจระหว่างประเทศ (Jawaharlal Nehru Award for International Understanding) โดยรัฐบาลอินเดีย และรางวัลซีมอง โบลีวาร์ระหว่างประเทศ (International Simón Bolívar Prize) จากรัฐบาลเวเนซุเอลา

รัฐบาลปากีสถานมอบรางวัลชาฮิด เบนาซีร์ บุตโตเพื่อประชาธิปไตย (Shaheed Benazir Bhutto Award For Democracy) ส่วนรัฐบาลแคนาดาประกาศให้เธอเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของประเทศ เป็นคนที่ 4 ที่ได้รับเกียรตินี้

ในปี 2554 เธอได้รับเหรียญวัลเลนเบิร์ก (Wallenberg Medal) วันที่ 19 กันยายน 2555 อองซานซูจีได้รับเหรียญทองรัฐสภา ซึ่งร่วมกับเหรียญเสรีภาพประธานาธิบดี เป็นเกียรติยศพลเรือนสูงสุดในสหรัฐอเมริกา

เดือนพฤศจิกายน 2558 เธอนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปอย่างถล่มทลาย ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ที่แข่งกันอย่างเปิดเผยเสรีครั้งแรกในรอบ 25 ปีของเมียนมา  แต่รัฐธรรมนูญของประเทศเขียนห้ามไม่ให้เธอเป็นประธานาธิบดี เพราะเธอมีคู่สมรส และทายาทที่ถือสัญชาติอื่น แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เธอคือผู้นำประเทศตัวจริง

หลังเข้าบริหารประเทศ ภาวะผู้นำของหญิงแกร่งแห่งแวดวงการเมืองเมียนมา ถูกท้าทายด้วยปัญหามุสลิมโรฮิงญา ที่เป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ ในปี 2550 ชาวโรฮิงญานับแสนคน ต้องอพยพไปบังกลาเทศ เนื่องจากโดนกวาดล้าง ในเหตุการณ์ที่กองทัพเมียน ระบุว่า เป็นการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธ ที่เข้าถล่มสถานีตำรวจหลายแห่งในรัฐยะไข่

ผู้ที่เคยสนับสนุนเธอในเวทีนานาชาติ เมื่อในอดีต กล่าวหาเธอว่า ละเลย ไม่ใส่ใจที่จะสกัดกั้นการสังหาร และข่มขืนชาวโรฮิงญา ที่เกือบเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเธอปฏิเสธ ที่จะประณามกองทัพที่ทรงอำนาจ และไม่ยอมรับว่ามีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในประเทศ

แต่สำหรับในเมียนมาแล้ว ซูจี  ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “สุภาพสตรี” ยังได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวพุทธ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และแทบไม่ใส่ใจต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo