World News

‘นาจิบ ราซัค’ อดีตนายกฯ มาเลเซีย โดนศาลสั่งจ่ายภาษีย้อนหลัง 1.25 หมื่นล้าน

นาจิบ ราซัคอดีตนายกฯ มาเลเซีย โดยศาลสั่งจ่ายภาษีย้อนหลัง 1.25 หมื่นล้าน ส่วนปลายเดือนนี้ ลุ้น! ประกาศคำตัดสินหนึ่งในคดีทุจริต 1MDB 

วานนี้ (22 ก.ค. 63) สื่อท้องถิ่นรายงานว่านาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้รับคำสั่งจากการพิพากษาชี้ขาดคดีให้จ่ายภาษีย้อนหลังเป็นมูลค่า 1.69 พันล้านริงกิต หรือราว 1.25 หมื่นล้านบาท

เบอร์นามา สำนักข่าวทางการมาเลเซียรายงานคำกล่าวของผู้พิพากษาศาลสูงแห่งกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่ว่า คณะกรรมการสรรพากรในประเทศ (IRB) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดเก็บภาษีของมาเลเซีย มีสิทธิ์เก็บภาษีที่ค้างชำระช่วงปี 2554-2560

การพิพากษาชี้ขาดคดี คือ การที่ศาลพิจารณคดีผ่านข้อโต้แย้ง โดยปราศจากการไต่สวนพยานหลักฐาน

นาจิบ ราซัค

ผู้พิพากษากล่าวว่า ศาลได้รับประกาศจากคณะกรรมการ IRB ซึ่งระบุให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีทุกคนจ่ายภาษีแก่คณะกรรมการ รวมถึงนาจิบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นาจิบจะได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เงินจำนวนนี้ต่อคณะกรรมาธิการพิเศษภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ไต่สวนและตัดสินอุทธรณ์จากผู้ชำระภาษี ตามกฎหมายภาษีของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ยื่นฟ้องนาจิบผ่านคณะกรรมการ IRB เมื่อปีที่แล้ว โดยขอให้เขาจ่ายภาษีที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปี นับจากวันตัดสิน รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าเยียวยาอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร

นาจิบ ราซัค ถูกฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาอีกหลายสิบข้อ รวมถึงการทุจริต การฟอกเงิน การใช้อำนาจในทางที่ผิด และการละเมิดต่อหน้าที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินหลายล้านริงกิต นับตั้งแต่พรรคของเขาสูญเสียอำนาจในการเลือกตั้งปี 2561 แต่เขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

โดยคำตัดสินของการพิจารณาคดีหนึ่ง โดยบริษัท เอสอาร์ซี อินเตอร์เนชั่นแนล อดีตหน่วยงานของกองทุนการพัฒนาวันมาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) จะประกาศในวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 นี้

1mdb นาจิบ ราซัค

เมื่อปลายปี 2562 นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้รับคำสั่งศาลให้เข้ามาให้การต่อสู้คดีสำหรับข้อหาทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB

ผู้พิพากษาศาลสูงกัวลาลัมเปอร์มีคำสั่งให้นาจิบเข้ามาให้การต่อสู้คดีในข้อกล่าวหาทั้ง 7 กระทง ได้แก่

  • ข้อหาละเมิดต่อหน้าที่ (breach of trust) 3 กระทง
  • ข้อหาใช้อำนาจโดยมิชอบ 1 กระทง
  • ข้อหาฟอกเงินซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทุนเอสอาร์ซี อินเตอร์เนชันแนล (SRC International) อีก 1 กระทง โดยกองทุนดังกล่าวอยู่ภายใต้กองทุน 1MDB

ผู้พิพากษาระบุว่า “มีพยานหลักฐานเบื้องต้นปรากฎในทุกข้อหา บัดนี้ศาลจึงขอเรียกตัวจำเลยให้เข้ามาให้การต่อสู้คดีในทุกข้อกล่าวหา”

คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาคดีเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2562 โดยระหว่างนั้นมีการเรียกพยาน 57 ปากเข้ามาให้การมากกว่า 60 วันทำการ

ทั้งนี้ เงิน 42 ล้านริงกิต หรือราว 308 ล้านบาท ถูกโอนจากกองทุน SRC International เข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษากองทุน 1MDB

ช่อ พรรณิการ์ 1mdb Copy

คดีทุจริต 1MDB ของประเทศมาเลเซีย ยังสั่นสะเทือนมาถึงประเทศไทย

โดยเมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ นำข้อมูลมาเปิดการอภิปรายนอกสภาผู้แทนราษฎรว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง ปกปิด หรือสมรู้ร่วมคิดในคดี 1MDB ซึ่งเป็นคดีอาชญากรรมทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกใน 4 ประเด็น

  1. ปกปิดข้อเท็จจริงในคดีอาชญากรรมการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากการรับรู้ของเพื่อนบ้านชาวมาเลเซีย และจากการรับรู้ของประชาชนคนไทย จากการรับรู้ของประชาคมโลก
  2. บิดเบือนกระบวนการยุติธรรมนำคนบริสุทธิ์เข้าคุก และปล่อยให้อาชญากรข้ามชาติลอยนวล
  3. ให้ที่พักพิงหลบซ่อนตัวแก้ผู้ที่มีหมายจับในต่างประเทศ
  4. บ่อนทำลายความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรของประเทศไทย

น.ส.พรรณิการ์กล่าวอ้างว่า ตำรวจไทยได้จับกุมนายชาเบียร์ ฆุสโต ผู้เปิดโปงข้อมูลการทุจริตกองทุน 1MDB โดยตั้งข้อหาพยายามกรรโชกทรัพย์ ซึ่งบังเอิญว่าการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากนายชาร์เบียร์ได้เปิดโปงคดีอื้อฉาว อีกทั้งมีหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าคดีนี้ผิดปกติ เช่น อดีตสกอตแลนด์ยาร์ดและตำรวจไทยกดดันนายชาเบียร์ ให้ยอมรับสารภาพความเท็จ และการที่ตำรวจเอฟบีไอ (FBI) ถูกปฏิเสธคำขอเข้าสอบ รวมทั้งนายชาเบียร์ไม่ถูกโอนตัวกลับไปรับโทษที่สวิตเซอร์แลนด์ตามที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังมีกรณีนายโจ โล คนสนิทของนาย นาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่มีการออกหมายแดงของตำรวจสากลเพื่อติดตามตัว แต่ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่า รัฐบาลไทยได้แจ้งต่อประเทศใดว่า โจ โล เข้า-ออกเมืองไทยและไม่ได้ปฏิเสธการขอเข้าประเทศของบุคคลที่มีหมายแดง ทั้งหมดทำให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า รัฐบาลไทยมีส่วนช่วยในการปกปิดคดีอื้อฉาว พร้อมขัดขวางกระบวนการยุติธรรมของต่างประเทศหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมราชทัณฑ์ของไทยได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย รวมถึงสอดคล้องกับหลักสากล

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo