World News

‘ยูเอ็น’ ชี้ ‘แก๊งมิจจาชีพออนไลน์’ ย้ายฐานไปเมียนมามากขึ้น

หน่วยงานยูเอ็น เปิดรายงานล่าสุด พบ “แก๊งมิจจาชีพออนไลน์” ย้ายฐานไปเมียนมามากขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ลึกเข้าไปจากพื้นที่ชายแดนจีน และไทย สร้างอุปสรรคในการกวาดล้าง และเหยื่อหลบหนียากขึ้น

วีโอเอ รายงานว่า สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นโอดีซี (UNODC) เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่ทรงอำนาจจากจีน และไต้หวัน ได้ใช้พื้นที่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และฟิลิปปินส์ เพื่อปฏิบัติการหลอกลวงคนผ่านทางอินเทอร์เน็ต จนสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

แก๊งมิจจาชีพออนไลน์

แม้มีการปราบปรามในกัมพูชาและฟิลิปปินส์ไปบ้างแล้ว แต่อาชญากรที่หลงเหลือ ก็ยังคงหลอกลวงผู้คนอย่างแยบยลมากขึ้นภายใต้การคุ้มกันของกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา

รายงานระบุว่า ฐานปฏิบัติการของมิจฉาชีพเหล่านี้ กระจุกตัวอยู่ใน 2 พื้นที่ของเมียนมา ได้แก่ เมียวดี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่อยู่ตรงข้าม อำเภอแม่สอด ประเทศไทย และอีกพื้นที่คือบริเวณชายแดนตะวันออกของเมียนมา ในพื้นที่ปกครองพิเศษว้า และโกก้าง ซึ่งมีชายแดนติดกับมณฑลยูนนานของจีน

เมียนมาเป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ยึดครองพื้นที่ชายแดนสำคัญ ๆ และทำมาหากินกับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม โดยกองกำลังในพื้นที่ชายแดนไทย และจีนตามที่ระบุในรายงาน ก็เป็นกองกำลังที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ในฐานะผู้ค้ายาเสพติด สัตว์ป่าหายาก ค้ามนุษย์ รวมถึงเป็นเจ้าของกาสิโนในพื้นที่ปกครองของตนเอง

รายงานบอกด้วยว่า องค์กรต่างชาติหลายแห่งเชื่อว่า มีผู้คนหลายหมื่นคนจากทั่วเอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ถูกหลอกให้เดินทางเข้ามาทำงานกับแก๊งมิจฉาชีพตามจุดศูนย์รวมของสถานที่ปฏิบัติการเหล่านี้ โดยส่วนมากเป็นคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาสูง ที่เข้าใจว่ามาทำงานถูกกฎหมายกับบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ค่าจ้างสูง

แต่สุดท้ายพบว่าต้องมาทำงานหลอกลวงผู้อื่น และต้องจ่ายค่าไถ่เป็นมูลค่าระหว่าง 3,000-6,000 ดอลลาร์ (ราว 1-2 แสนบาท) ซึ่งอาจจ่ายโดยครอบครัว สถานทูต หรือองค์กรเอ็นจีโอต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางส่วนที่ตั้งใจเดินทางมาทำงานหลอกลวง และชักชวนเพื่อนฝูง หรือครอบครัวมาร่วมทำงานด้วย โดยรายได้ของคนเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ทำงาน และบ่อยครั้งเป็นส่วนแบ่งจากการหลอกลวงเหยื่อ

แก๊งมิจจาชีพออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บางประเทศ ได้เห็นชอบที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งมิจฉาชีพ ที่เดิมทีมีจุดเริ่มต้นจากธุรกิจกาสิโนในกัมพูชา ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นงานมิจฉาชีพในช่วงโควิด-19 ระบาด ที่หลอกลวงให้คนมาลงทุนที่ไม่มีอยู่จริง หรือแกล้งสร้างสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวแล้วให้โอนเงินมาให้ (romance scam)

“กลุ่มองค์กรอาชญากรรมกำลังไปกระจุกตัวกันในพื้นที่ที่พวกเขาเห็นว่าเปราะบาง” เจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคของยูเอ็นโอดีซี ที่มีส่วนในการทำรายงาน ระบุ

ข้อมูลจากรายงานชี้ว่า ฐานปฏิบัติการทั้งหลายถูกติดตั้งเหล็กดัด และเฝ้าด้วยกลุ่มคนติดอาวุธ เพื่อไม่ให้พนักงานหลบหนีได้ โดยผู้ที่ทำงานให้กับแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ ส่วนใหญ่ข้ามพรมแดนไปจากไทย ซึ่งเป็นทั้ง “ประเทศต้นทางและจุดผ่าน” สำหรับการลักลอบค้ามนุษย์ในอาชญากรรมนี้

ยูเอ็นโอดีซี บอกด้วยว่า แม้เหยื่อหลายรายจะสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือจากสถานทูต หรือภาคประชาสังคม จนนำไปสู่การไถ่ตัวออกมาได้ แต่ก็ยังมีฐานปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกลในรัฐฉาน ที่เหยื่อยังไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo