World News

‘อาชญากรไซเบอร์จีน’ ยึดพรมแดน ‘ไทย-เมียนมา’ ที่มั่น หลอกเหยื่อทั่วโลก

องค์กรอาชญากรรมไซเบอร์จากจีน ยึดแนวพรมแดนไทย-เมียนมา เป็นที่มั่น คุกคามผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก ผ่านการหลอกลวงออนไลน์ และการฉ้อโกงทางการเงิน โดยใช้ “ทาสทางไซเบอร์” ในการก่ออาชญากรรมต่าง ๆ

สถาบันแห่งสันติภาพสหรัฐ (ยูเอสไอพี) ได้ออกรายงาน “A Criminal Cancer Spreads in Southeast Asia” หรือ “มะเร็งอาชญากรที่แพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยระบุว่า อาชญากรไซเบอร์ที่ถูกขับไล่ออกจากจีน กำลังยึดแนวพรมแดนของหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา เป็นฐานที่มั่นใหม่ ซึ่งกลายมาเป็น  “ภัยคุกคามด้านความมั่นคงทั่วโลก”

พรมแดนไทย-เมียนมา

นายเจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเมียนมาของยูเอสไอพี กล่าวกับวีโอเอว่า กลุ่มอาชญากรไซเบอร์เหล่านี้ มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลก จากเดิมที่เน้นไปที่เครือข่ายพนันออนไลน์เป็นหลัก

นายทาวเวอร์ ระบุถึงวิธีการใหม่ที่อาชญากรเหล่านี้นำมาใช้เรียกว่า “การเชือดหมู” คือ การทำให้เหยื่ออ่อนแอลงทางการเงิน ก่อนที่จะเชือดในที่สุด ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ มักเริ่มจากการล่อลวงฉันชู้สาวทางออนไลน์ หรือหลอกลวงให้ลงทุนบางอย่าง โดยสัญญาว่าจะได้ผลตอบแทนก้อนใหญ่ โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าอาศัยอยู่ในสหรั{ ยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ

รายงานชี้ว่า ชเว ก๊กโก เมืองสร้างใหม่ในรัฐกะเหรี่ยง ติดชายแดนไทย กลายมาเป็นที่มั่นของกลุ่มอาชญากรเหล่านี้ โดยแบ่งเป็นอย่างน้อย 17 เขตอาชญากรรมในเมืองดังกล่าว เป็นพื้นที่รวมราว 5 ล้านตารางเมตร ซึ่งประกอบด้วยอาคารสำนักงาน ที่ตั้งเรียงรายไปตามแนวแม่น้ำเมย บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา

พื้นที่ดังกล่าวควบคุมโดยกลุ่มนักลงทุนผิดกฎหมายจากจีน ซึ่งร่วมมือกับ กองกำลังติดอาวุธรักษาชายแดนกะเหรี่ยง (บีจีเอฟ)

รายงานบอกด้วยว่า เมื่อคนทำงานชาวจีนหนีกลับปักกิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 กลุ่มอาชญากรก็ได้ล่อลวงคนที่กำลังหางาน จากหลายประเทศ รวมทั้ง ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ให้ทำงานผิดกฎหมาย ด้วยการเสนอค่าจ้างราคาแพง ก่อนที่จะลักลอบนำคนเหล่านั้นข้ามพรมแดน เพื่อมาทำงานในลักษณะของ “ทาสไซเบอร์” ที่ชเว ก๊กโก

นายทาวเวอร์ ระบุว่า มีพลเมืองจากมากกว่า 30 ประเทศ ถูกลักลอบมาทำงานเป็นทาสไซเบอร์ที่เมืองนี้ และอีกหลายเมืองริมฝั่งแม่น้ำเมย ซึ่งแรงงานที่ถูกหลอกมานี้ มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย

พรมแดนไทย-เมียนมา

ขณะที่ รายงานของสเตรท ไทมส์ สื่อใหญ่ในสิงคโปร์ ระบุว่า มีชาวมาเลเซียราว 1,000 คนถูกบังคับล่อลวงให้มาทำงานที่ชเว ก๊กโก ขณะที่สถานทูตอินโดนีเซียในนครย่างกุ้ง เผยว่า ได้ช่วยเหลือชาวอินโดนีเซียหลายคนออกจากเมืองดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการจ่ายเงินค่าไถ่ ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่า เงินค่าไถ่ตกประมาณ 8,500 ดอลลาร์ หรือราว 300,000 บาทต่อคน

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์เผยว่า มีชาวฟิลิปปินส์ 8 คนได้รับการช่วยเหลือออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยพวกเขาถูกหลอกให้สมัครงานออนไลน์ตำแหน่ง “ลูกค้าสัมพันธ์” ในประเทศไทย ก่อนที่จะถูกลวงให้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี และไปจบที่ชเว ก๊กโก ในฐานะ “ทาสไซเบอร์”

นายทาวเวอร์ ชี้ว่า ปัญหาอาชญากรไซเบอร์ บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา กลายเป็นปัญหาระดับโลกแล้ว และต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการช่วยกันแก้ไขจัดการ และจับกุมตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

บรรดาสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่างพยายามแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดตั้งโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์สมัยใหม่ และการการลักลอบขนส่งผู้อพยพข้ามพรมแดน แต่บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ยังคงเป็นจุดที่ยากจะเข้าไปแก้ไขได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo