World News

รู้จัก ‘แร่หายาก’ ว่าที่อาวุธชิ้นต่อไป ที่จีนอาจใช้สู้ ‘สงครามเทคโนโลยี’

ทำความรู้จัก “แร่หายาก” วัตถุดิบจำเป็นในการผลิตสินค้าเทคโนโลยี สินค้าที่ทั่วโลกกำลังวิตกว่า “จีน” ผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลก อาจควบคุมการส่งออก หลังประกาศคุมส่งออกแร่ 2 ชนิดสำคัญ สำหรับการผลิตสินค้าเทคโนโลยี อย่าง  “แกลเลียม” และ “เจอร์มาเนียม” ไปแล้ว 

จากกรณีที่จีนประกาศจำกัดการส่งออกแร่แกลเลียม 8 ชนิด และเจอร์มาเนียม 6 ชนิด ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) การผลิตสายไฟเบอร์ออพติก การผลิตชิปคอมพิวเตอร์ประมวลผลความเร็วสูง การผลิตพลาสติก และการผลิตอุปกรณ์ด้านการทหาร ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ โดยให้เหตุผล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของชาตินั้น

แร่หายาก

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า การตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งถูกมองว่าเป็นการตอบโต้สหรัฐ ที่ควบคุมการขายเทคโนโลยีให้กับจีน ทำให้เกิดความกังวลว่าในที่สุดจีนอาจจำกัดการส่งออกวัสดุอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แร่หายาก”  (rare earth) ซึ่งจีนเป็นผู้ควบคุมการผลิต

ในปี  2553 จีนจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังญี่ปุ่นหลังจากเกิดข้อพิพาทด้านดินแดน ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้น และญี่ปุ่นพยายามหาแหล่งอื่นทดแทน ปักกิ่งกล่าวว่าการควบคุมมีพื้นฐานมาจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อเท็จจริงบางประการของ “แร่หายาก” ซึ่งจีนมีอิทธิพลด้านการผลิตอย่างมาก และสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ กำลังดำเนินการ เพื่อลดการพึ่งพาจีนสำหรับวัสดุดังกล่าว

แร่หายาก คืออะไร และใช้อย่างไร

แร่หายาก เป็นแร่ธาตุ 17 ชนิด ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เลเซอร์ และอุปกรณ์ทางทหารไปจนถึงแม่เหล็ก ที่พบในยานพาหนะไฟฟ้า กังหันลม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น ไอโฟน

แร่ทั้ง 17 ชนิด ได้แก่ แลนทานัม ซีเรียม ปราซีโอดีเมียม นีโอไดเมียม โพรมีเทียม ซาแมเรียม ยูโรเพียม แกโดลิเนียม เทอร์เบียม ดิสโพรเซียม โฮลเมียม เออร์เบียม ทูเลียม อิตเทอร์เบียม ลูเทเทียม สแกนเดียม อิตเทรียม

แร่หายาก

จีนมีอิทธิพลอย่างไร ในการจัดหา “แร่หายาก” โลก

เหมืองแร่: นับถึงปี 2565 จีนมีการผลิตแร่หายากคิดเป็นสัดส่วน 70% ของการผลิตแร่หายากจากเหมืองทั่วโลก ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เมียนมา และไทย

การประมวลผล: จีนมีกำลังการผลิตอย่างน้อย 85% ของโลก ในการแปรรูปแร่หายากให้ผู้ผลิตวัสดุนำไปใช้

การส่งออก: ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ จีนส่งออกแร่หายาก 20,987  ตัน ลดลง 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา นำเข้าแร่หายากส่วนใหญ่จากจีน แต่การพึ่งพาดังกล่าวได้ลดลงเหลือ 74% ระหว่างปี 2561-2564 จาก 80% ในช่วงปี 2557-2560

แร่หายาก

ประเทศไหนมีแหล่งแร่หายากสำรองมากที่สุดในโลก

ข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐ (ยูเอสจีเอส) ระบุว่า จีนมี แรร์เอิร์ธออกไซด์ (ROE) เทียบเท่าปริมาณสำรอง 44 ล้านเมตริกตัน หรือคิดเป็น 34% ของทั้งหมดในโลก

ส่วนเวียดนาม รัสเซีย และบราซิลมีประมาณ 20 ล้านตันต่อประเทศ ขณะที่อินเดียมี 6.9 ล้านตัน ออสเตรเลีย 4.2 ล้านตัน และสหรัฐอเมริกามี 2.3 ล้านตัน

ประเทศอื่น ๆ กำลังทำอะไรเพื่อลดการพึ่งพาจีน

หลายประเทศในโลกตะวันตก พยายามเพิ่มมาตรการสนับสนุน เพื่อเพิ่มการผลิตแร่ธาตุที่สำคัญ รวมถึง แร่หายาก ในประเทศ  โดยออสเตรเลีย แคนาดา สหภาพยุโรป และสหรัฐได้กำหนดนโยบาย และมาตรการสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่สำคัญของแต่ละประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo