World News

ย้อนรอยเส้นทางรุ่งโรจน์ ‘SVB’ ก่อนสร้างตำนาน ‘แบงก์ยักษ์ล้ม’ อย่างไม่คาดฝัน

กลายเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนแวดวงการเงินโลกอยู่หลายวัน กับการล้มของ “SVB” ธนาคารรายใหญ่อันดับ 16 ของสหรัฐ ที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดกิจการอย่างทันควัน หลังประสบปัญหาสภาพคล่อง และล้มเหลวในการขายหุ้นเพื่อเพิ่มทุนธนาคาร

การล้มของ “ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” หรือ SVB  ธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย นับว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของหลายฝ่ายมาก เพราะสถาบันการเงินใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐรายนี้ มีชื่อเสียงว่า ค่อนข้างระมัดระวังในการบริหาร มีสภาพคล่องค่อนข้างมาก

SVB 

ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือสินเชื่อจดจำนองที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทั้งยังมีความโดดเด่นในฐานะสถาบันการเงินแห่งเดียวของสหรัฐ ที่ทำงานกับสตาร์ทอัพ และเงินดิจิทัล

ธุรกิจหลักของ SVB คือ การปล่อยเงินกู้ให้กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยนับถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 พบว่า SVB มีมูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 209,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้เสีย (NPL) ไม่ถึง 1%

ช่วงสองปีที่ผ่านมา ธนาคารจ่ายเงินปันผลจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 345 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการคลังสหรัฐ จากนั้นจึงใช้เงินที่ได้จากการขายหุ้นมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อซื้อคืนดอกเบี้ยของรัฐบาล

SVB เป็นพันธมิตรทางการเงินระหว่างการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Atlas ของ Stripe ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพลงทะเบียนเป็นบริษัทในสหรัฐ

SVB 

แล้วทำไมถึงล้ม 

ปัญหาของ SVB ไม่ได้เกิดจากคุณภาพสินทรัพย์ แบบเดียวกับที่เป็นปัญหาของธนาคารรายอื่น ๆ  แต่เกิดขึ้นจากการที่เงินฝากเริ่มลดลง หรือโตช้า เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทด้านการลงทุนเงินทุน เริ่มระดมทุนเงินทุนได้ยากขึ้น

ทั้งบรรดาสตาร์ทอัพ ซึ่งต้องการประคับประคองกิจการตัวเอง ก็แห่ถอนเงินออกจากธนาคารอย่างกะทันหัน จนทำให้ธนาคาร ประสบปัญหาขาดกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก และแก้ปัญหาด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ตัวเองถืออยู่ มูลค่าประมาณ 21,000 ล้านดอลลาร์ แต่เพิ่มทุนไม่สำเร็จ

ส่วนหนึ่งของการเพิ่มทุนไม่สำเร็จนั้น เป็นผลพวงมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำตราสารหนี้ ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ออกมาขายในเวลานี้ ตกอยู่ในภาวะขาดทุน และธนาคารตัดสินใจแก้ปัญหาอีกครั้ง ด้วยการประกาศแผนขายหุ้นแก่นักลงทุนวงเงิน 2,250 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ต้องล้มไปในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo