World News

รบกันข้ามปี ‘สงครามยูเครน’ ปัจจัยหลักฉุดเศรษฐกิจโลกปี 2566

ผ่านกันมาข้ามปี “สงครามยูเครน” ที่เกิดจากรัสเซีย บุกเข้ารุกรานยูเครน ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะที่จบสิ้นลง โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั่วโลกมาตลอดปี 2565 และอาจต่อเนื่องจนถึงตลอดทั้งปี 2566

รายงาน “แนวโน้มอุตสาหกรรม 2566” ของดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ระบุว่า สงครามในยูเครน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าครองชีพสูงขึ้น ทั้งยังกลายเป็นปัจจัยขัดขวางการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และธุรกิจต่าง ๆ ก็เผชิญกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป

สงครามยูเครน

ปัจจัยหลักฉุดเศรษฐกิจโลก

ก่อนหน้านั้น “คริสตาลินา จอร์เจียวา” กรรมการผู้จัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ได้ออกมาระบุว่า ว่า สงครามในยูเครนเป็น “ปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียว” สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2565 และมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นเช่นนั้นในปี 2566 ด้วยเช่นกัน

“เรามองว่าสงครามในยูเครนเป็นปัจจัยลบที่สำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียวสำหรับเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และเป็นไปได้มากที่สุดที่จะส่งผลถึงปีหน้าด้วย อะไรก็ตามที่สร้างความกังวลมากขึ้นย่อมสร้างความเสียหายให้กับโอกาสในการขยายตัวและการประชุมที่จำเป็น รวมถึงแรงบันดาลใจของผู้คนทั่วโลกอย่างแน่นอน”

ที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟ เคยออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจโลก อาจตกอยู่ในภาวะ การแตกกลุ่ม (fragmentation) ซึ่งเป็นผลจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ลงเหลือเพียง 2.7% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ย่ำแย่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เว้นแต่ครั้งที่เกิดวิกฤติการเงินโลก และการแพร่ระบาดอย่างฉับพลันของโรคโควิด-19

“เรากำลังเห็นสัญญาณบางอย่างของการแตกกลุ่มแล้ว และเรื่องดังกล่าวเกิดจากความกังวลที่ชัดเจนนั่นคือความมั่นคงทางด้านอุปทาน เราได้เห็นภาวะห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักเพราะโรคโควิด-19 และเพราะสงครามในยูเครน รวมทั้งได้สร้างความเสียหายต่อการขยายตัวทั้งในประเทศและระดับโลก”

ยิ่งไปกว่านั้น สงครามที่ยืดเยื้อออกไป ยังส่งผลกระทบต่อ “ราคาพลังงาน” โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ในตลาดโลก ที่ตกอยู่ท่ามกลางความผันผวนมาตลอดปีที่ผ่านมา จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป  ที่แม้จะไม่ได้ยกเลิกการนำเข้าพลังงานเสียทั้งหมด แต่ก็ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น

แม้หลายประเทศจะเลือกทำสิ่งที่ถูกต้องโดยการไม่สนับสนุนรัสเซีย แต่ผลที่ตามมาก็กระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจนค่าครองชีพเพิ่มขึ้น

สงครามยูเครน

สร้างผลกระทบต่อวิกฤติอื่นทั่วโลก

สหพันธ์สภากาชาด และสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ก็เคยออกมาเตือนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคนจนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกจะรุนแรงหนักขึ้นไป หากสงครามที่เริ่มต้นจากการรุกรานของกองทัพรัสเซียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ลากยาวต่อไป

กาชาดสากลยังระบุว่า ราวครึ่งหนึ่งของประชากรจำนวน 44 ล้านคนของยูเครน ยังจะต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเวลาอีกนาน แม้หลังภาวะขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดลงไป เพราะต้องใช้เวลาอีกหลายปี ในการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นต่ออาคารบ้านเรือนในเมืองต่าง ๆ และอีกหลายปีในการฟื้นฟูภาวะความปวดร้าว และอาการบาดเจ็บทางจิตใจ รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อสภาวะทางกายภาพและทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสงครามครั้งนี้

สงครามยูเครน

มองไม่เห็นจุดจบ 

สำหรับสถานการณ์สู้รบนั้น บีบีซี รายงานอ้างการวิเคราะห์ของ ดร.บาร์บารา ซานเชตตา อาจารย์ภาควิชาศึกษาสงคราม คิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน ชี้ว่า การที่ปประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน คิดว่ามหาอำนาจด้านการทหารอย่างรัสเซีย จะกุมชัยชนะเหนือประเทศเพื่อนบ้านเล็ก ๆ อย่างยูเครนได้โดยง่าย โดยไม่มีประเทศอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องนั้น ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง อีกทั้งยังทำให้ความขัดแย้งนี้ขยายวงกว้าง จนมองไม่เห็นจุดจบ

ดร.ซานเชตตา มองว่าความเป็นไปได้ในการเจรจายุติสงครามมีอยู่ริบหรี่ เพราะการจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้นั้น ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยอมเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องของตน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้น

เธอแสดงความเห็นว่า สงครามนี้จะยุติลงได้ต้องมาจากปัจจัยการเมืองภายในของรัสเซีย ที่ยอมรับถึงการประเมินเกมรบที่ผิดพลาด และเป็นฝ่ายถอนตัวออกจากสงคราม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับสหรัฐ ในสงครามเวียดนาม และกับสหภาพโซเวียตในสมรภูมิอัฟกานิสถาน

กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาติตะวันตกมีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนยูเครน แม้จะต้องเผชิญแรงกดดันในประเทศเรื่องค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการทำสงครามครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะยืดเยื้อออกไป และจนถึงสิ้นปี 2566 สงครามครั้งนี้ก็อาจไม่ยุติลงโดยง่าย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo