World News

ครั้งแรกของโลก! ‘อียู’ ไฟเขียวเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ สินค้านำเข้า

อียู บรรลุข้อตกลง เก็บ “ภาษีคาร์บอน” การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กับสินค้านำเข้า ที่ก่อมลพิษ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการเก็บภาษีลักษณะนี้

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้เจรจาของประเทศสมาชิก สหภาพยุโรป (อียู) และรัฐสภายุโรป บรรลุข้อตกลงเมื่อเวลา 05:00 น.วันนี้ (13 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ของกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เรื่องกฎหมายจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กับสินค้านำเข้า ประเภทเหล็ก ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และไฮโดรเจน

ภาษีคาร์บอน

บริษัทที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ จะต้องซื้อใบรับรองการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั้งบริษัทนอกอียู และบริษัทในอียู ส่วนรายละเอียดของกฎหมาย เช่น กำหนดวันเริ่มบังคับใช้ จะมีการสรุปอีกครั้ง ในการเจรจาเรื่องการปฏิรูปตลาดคาร์บอนของอียู

แกนนำการเจรจาเผยว่า ภาษีนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความพยายามต่อสู้โลกร้อนของอียู เพราะเป็นหนึ่งในกลไก ที่อียูจะใช้จูงใจคู่ค้าให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในอุตสาหกรรมการผลิตของตนเอง และช่วยปกป้องอุตสาหกรรมของยุโรป ที่ถูกตัดราคา จากสินค้าราคาถูกที่ผลิตในประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวด

ภาษีนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของชุดนโยบาย ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอียู ภายในปี 2573 ลงมา 55% จากระดับการปล่อยในปี 2533

ปัจจุบัน บริษัทในอียูต้องซื้อใบอนุญาตปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากตลาดซื้อขายคาร์บอนของอียู แต่หลายอุตสาหกรรมไม่เสียค่าใบอนุญาต เนื่องจากอียูต้องการปกป้อง ไม่ให้ถูกกระทบจากการแข่งขันจากต่างประเทศ

ภาษีคาร์บอน

อย่างไรก็ดี อียูมีแผนจะทยอยยกเลิกการไม่เก็บค่าใบอนุญาต เมื่อทยอยนำการเก็บภาษีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)

ก่อนหน้านี้ อียูเคยระบุว่า จะยกเว้นการเก็บภาษีปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้แก่ประเทศที่มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเทียบเท่ากับอียู

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo