World News

สินค้า ‘คาร์บอนรีไซเคิล’ ช่วยแก้ปัญหา ‘โลกร้อน’ ตลาดใหม่นักลงทุนให้ความสนใจ

เพชร แว่นตากันแดด และชุดกีฬา ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ ที่สามารถผลิตได้โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซหลัก ที่ทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกร้อนขึ้น และบรรดาบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ ที่ทำให้การผลิตดังกล่าวเกิดขึ้นได้ กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน

VOA รายงานว่า ขั้นตอนการผลิตสินค้าจาก “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” มีทั้งการใช้แบคทีเรีย โปรตีน หรือการใช้กระบวนการทางเคมี เพื่อเร่งปฏิกิริยาตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะทำโดยการแยกคาร์บอน และออกซิเจน ในก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกัน เพื่อสร้างสารเคมีอีกชนิด ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ

shutterstock 789727018

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย พิทช์บุ๊ค, เซอร์คิวลาร์ คาร์บอน เน็ตเวิร์ค, คลีนเทค กรุ๊ป, และ ไคลเมท เทค วีซี ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนรีไซเคิล สามารถระดมทุนได้ประมาณกว่า 800 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าสามเท่าของยอดรวมเมื่อปี 2563

ไรอัน เชียร์แมน ผู้บริหารบริษัทเอเธอร์ ไดมอนด์ส ซึ่งใช้วิธีแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตเพชรเทียม กล่าวว่า เขาไม่อยากจะเรียกราคาของสินค้าดังกล่าวว่าเป็นภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ก็แสดงให้เห็นว่า พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายในราคาพรีเมียมนั้น

248411079 382376190280809 6201333516434504210 n

นอกจากนี้ ยังมีการใช้คาร์บอนรีไซเคิลอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การผลิตคอนกรีต ที่แม้จะมีประกายที่เฉิดฉายน้อยกว่าเพชร แต่ก็ยังมีความแข็งแรงอยู่

บริษัทคาร์บอนเคียว เทคโนโลยีส์ กำลังพัฒนาวิธีการฉีดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลงในคอนกรีตระหว่างกระบวนการผลิต โดยคาร์บอนที่ถูกจับอยู่ภายใน จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับแท่งคอนกรีต และยังช่วยกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ให้มีเพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศด้วย

โรบิน ไนเวน ประธานคาร์บอนเคียว เทคโนโลยีส์  กล่าวว่า คำว่า “สีเขียว” นั้น ดีต่อการทำการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และว่าประมาณ 90% ของลูกค้ามาจากผู้ผลิตคอนกรีตอิสระ ทั้งรายใหญ่ และรายย่อยที่กำลังมองหาความได้เปรียบในการแข่งขัน

careers truck and carboncure

อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องดักจับ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละ 10,000 ล้านตันภายในปี 2593 เพื่อจะชะลอสภาพอากาศแปรปรวน แต่โครงการดักจับคาร์บอนในปัจจุบัน สามารถกักเก็บได้เพียงปีละไม่กี่พันตันเท่านั้น เทียบกับการที่มนุษย์สร้างก๊าซที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ 50,000 ล้านตัน

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์นโยบายพลังงานโลก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐ ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการรีไซเคิลคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ระบุว่า หากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ที่ทำจากน้ำมัน ใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่รีไซเคิลแทน จะทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงประมาณปีละ 6,800 ล้านตัน

แต่ อามาร์ ภัทวาช หัวหน้านักวิจัย ผู้เขียนรายงานฉบับดังกล่าว บอกด้วยว่า การรีไซเคิลคาร์บอนไดออกไซด์ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะมีวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า

อีกด้านหนึ่ง บริษัทเสื้อผ้าอย่าง ลูลูเลมอน แอทเลติกา กับ แลนซาเทค เปิดเผยว่า ได้ร่วมกันผลิตวัสดุโพลีเอสเตอร์จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ โดยการใช้แบคทีเรียในการรีไซเคิลเอทานอล ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งให้เป็นเอทิลีน และเอทิลีนนั้น สามารถนำมาใช้ทำผ้าโพลีเอสเตอร์ และภาชนะพลาสติกได้

รายงานข่าวระบุว่า แลนซาเทค สามารถระดมเงินมากได้ที่สุดในบรรดาบริษัทที่แข่งขันกันในแวดวงนี้

Lanzatech

ขณะที่ เจนนิเฟอร์ โฮล์มเกรน ซีอีโอแลนซาเทค กล่าวว่า แม้เอทานอลของตนมีราคาสูงกว่าเอทานอลที่ทำจากข้าวโพด แต่ลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ยังคงยินดีที่จะซื้อผลิตภัณฑ์นี้อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ จะไม่ใช่ความคิดที่ดีสำหรับนักลงทุน ซึ่งคิดว่ารัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่มีความเสี่ยงสูง และมีค่าใช้จ่ายสูงนี้ แต่ นิโคลัส มัวร์ ไอเซนเบอร์เกอร์ จากกลุ่มการลงทุน เพียว เอเนอร์จี พาร์ทเนอร์ส กลับมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

ไอเซนเบอร์เกอร์ ลงทุนในบริษัทดักจับอากาศชื่อ โกลบอล เธอร์โมสแตท เพราะเขามองเห็นถึงโอกาส และเชื่อว่าเมื่อโครงการเติบโตเพียงพอต้นทุนก็จะลดลง

เขากล่าวอีกว่า วิทยาศาสตร์ได้บอกไว้แล้วว่า มนุษย์มีเวลาเหลืออีกไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ที่จะเริ่มควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เวลาดังกล่าวก็น่าจะอยู่ในกรอบเวลาที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo