Stock

ความจริงที่ต้องรู้ของ ‘หุ้นเบทาโกร’ (BTG)

ไม่พูดถึงไม่ได้แล้วสำหรับหุ้นที่ฮอตที่สุดในเวลานี้ BTG หรือ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล ที่เพิ่งเสนอขายหุ้น IPO ราคา 40 บาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

แต่การเข้าเทรดวันแรกของ BTG กลับทำให้นักลงทุนช็อกไปตาม ๆ กัน ราคาหุ้นเปิดต่ำจอง ความเคลื่อนไหวของวันแรกปรับตัวลดลงถึง 3.75 บาท หรือ -9.38% ปิดการซื้อขายอยู่ที่ 36.25 บาทต่อหุ้น ทั้งที่เป็นบริษัทที่มีศักยภาพพื้นฐานแข็งแกร่ง รายได้กำไรโตในระดับสูง แนวโน้มในอนาคตก็ดี และแผนขยายการเติบโตก็ชัดเจน

คำถามก็คือทำไมราคาหุ้น BTG ถึงไม่สะท้อนปัจจัยบวกดังกล่าว ใครกันที่เทขายหุ้นออกมาในวันแรก

เป็นคำตอบที่ไม่ใครรู้ หลายคนก็ได้แต่เดากันไปว่าเกิดความผิดพลาดที่จุดไหน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาเสนอขาย สัดส่วนการกระจายหุ้น หรือมีอินไซด์อะไรที่ตลาดไม่ได้รับรู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเด็นที่มีการเปิดเผยในหนังสือชี้ชวนว่า เบทาโกรได้จ่ายเงินปันผล และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน IPO

เบทาโกร

เบทาโกร ชี้แจงจ่ายปันผลจากกำไรสะสม หุ้นเพิ่มทุนมี Lock-Up

ประเด็นดังกล่าว “วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BTG ได้ออกมาเคลียร์ชัดเจน ดังนี้

1. เรื่องการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน IPO จำนวน 10,500 ล้านบาท เป็นการจ่ายจากกำไรสะสมที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทก่อนเข้าตลาด ซึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเป็นเจ้าของบริษัท 100%

การจ่ายปันผลก่อน IPO ไม่ว่าจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน หรือกู้ยืมระยะสั้น เป็นเรื่องปกติทั่วไป เพราะเป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องและปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม

2. เรื่องการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิม จำนวน 450 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท ชี้แจงว่าการเพิ่มทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ก่อน IPO โดยไม่มีการขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนการทำ IPO

ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน IPO ทุกราย ได้ทำสัญญาห้ามขายหุ้น (Additional Lock-Up) ทั้งหมด 100% ที่ถืออยู่ก่อน IPO จำนวนรวม 1,500 ล้านหุ้น เป็นระยะเวลา 6 เดือนหลังจากหุ้น BTG เข้าเทรดวันแรก แปลว่าหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดจะติด Silent Period เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้น

โดยข้อมูลทั้งหมดได้ถูกเปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ตั้งแต่การเสนอขายหุ้น IPO แล้ว แปลว่าบริษัทและที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่ได้มีเจตนาที่จะปกปิดข้อมูลอย่างที่มีกระแสข่าวลือ หากนักลงทุนอ่านข้อมูลอย่างละเอียดก็จะเห็นแน่นอน เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วไปสำหรับการทำ IPO

ปันผลและเพิ่มทุนก่อน IPO เป็นเรื่องปกติ

ข้อเท็จจริงที่นักลงทุนต้องรู้ก็คือ การที่เบทาโกรจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่า 10,500 ล้านบาท และการเพิ่มทุนหุ้นละ 10 บาท ถือเป็นเรื่องปกติในการทำ IPO หลายบริษัททั่วโลกก็ปรับโครงสร้างเงินทุนแบบนี้ เพราะอะไรนั้นมาดูกัน

ประเด็นแรก การจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นเดิม ลองคิดง่ายๆ เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้บริหารก็ควรจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงาน เป็นเงินปันผลอยู่แล้ว

เบทาโกร

คิดในมุมกลับถ้าเราเป็นผู้ถือหุ้นก่อน IPO กำไรที่เก็บสะสมจากการทำงานนับสิบปี เราก็ควรได้รับผลตอบแทนนี้จริงไหม เชื่อว่าคงไม่มีใครใจบุญ ถึงขนาดนำเงินไปแจกให้กับคนอื่น ส่วนคนที่อยากจะร่วมลงทุนใหม่ก็ค่อยสร้างการเติบโตจากฐานที่แข็งแกร่งไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ประเด็นถัดมา การเพิ่มทุนราคาต่ำให้ผู้ถือหุ้นเดิม ก็เหมือนกับเราและครอบครัวเป็นเจ้าของกิจการ การเพิ่มทุนก็คือการใส่เงินสดเข้าไปในบริษัทตัวเอง เหตุผลก็มีตั้งแต่อยากให้ทุนจดทะเบียนสูงขึ้นตามเกณฑ์ ก.ล.ต. เพิ่มเพื่อความน่าเชื่อถือของบริษัท หรือเพิ่มสภาพคล่อง ฯลฯ เอาจริงๆ แล้วกลับเป็นผลดีต่อธุรกิจด้วยซ้ำ เพราะมีเงินสดมากขึ้น และสะท้อนว่าผู้ถือหุ้นเดิมมีความเชื่อมั่น

สรุปอีกทีว่า การจ่ายปันผล และการเพิ่มทุนก่อนขาย IPO เป็นเรื่องปกติสามัญที่บริษัทไหนทำกัน ก่อนหน้านี้ในตลาดหุ้นไทยก็มีหุ้นหลายตัว อย่างเช่น OR, AU, BBIK, OSP และ GULF เป็นต้น ซึ่งหุ้นเหล่านี้ล้วนพิสูจน์แล้วว่าเป็นบริษัทคุณภาพในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ธุรกิจเติบโตแข็งแกร่งต่อเนื่อง จังหวะเข้าสะสมระยะยาว

นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า BTG จะทำกำไรสุทธิในปี 2565 เติบโตถึง 695% สู่ระดับ 8 พันล้านบาท จากแนวโน้มราคาหมูและไก่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนในปี 2566 – 2567 แม้คาดว่าจะมีกำไรที่ลดลงเป็นประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งก็ยังเป็นระดับที่สูงมากอยู่ดี นับว่าเป็นฐานใหม่ของบริษัทก็ว่าได้

ดังนั้น จึงกำหนดมูลค่าที่เหมาะสม (Fair value) หุ้น BTG ในปี 2566 เท่ากับ 48 บาท อิง PER 15 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย PER ที่ Fair value ของผู้ประกอบการหมูและไก่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถคาดหวัง เงินปันผล (Dividend yield) ปี 2566 ได้ราว 2%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน