Stock

โอกาสหุ้นยั่งยืน ท่ามกลางกระแส ‘คาร์บอนเครดิต’

คำว่า “Climate Change”  “Greenhouse Effect และ “Sustainability” ถูกพูดถึงมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว  ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่แค่คำสวยๆ ที่ใช้สร้างภาพลักษณ์ให้แก่องค์กรเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ได้กลายเป็นเมกะเทรนด์ ที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจังยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

เพราะว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากมาย และส่งผลกระทบมาถึงภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ อุณหภูมิที่สูงขึ้นราว 2 – 3 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม จะทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบราว 11 – 18% ดังนั้น นานาชาติจึงกำหนดเป้าหมายสู่ Net Zero ภายในปี 2593 ทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มใช้มาตรการจูงใจให้มีการลดการปล่อยคาร์บอน ผ่านการจัดเก็บภาษีคาร์บอนและการชดเชยคาร์บอน

shutterstock 2069160893

โอกาสในธุรกิจคาร์บอนเครดิต

เนื่องจากองค์กรชั้นนำทั่วโลกมีนโยบายยึดหลัก ESG (Environment, Social, Governance) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนและไม่มีปล่อยคาร์บอน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ทุกธุรกิจจะสามารถใช้พลังงานสะอาดได้ 100% หรือหากทำได้ก็คงมีต้นทุนที่แพงมาก

โอกาสหุ้นยั่งยืน

ดังนั้น จึงมีการออกแบบ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อเป็นตัวช่วยลดคาร์บอนผ่านการซื้อขายนั่นเอง คือให้ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์กำหนด สามารถไปซื้อคาร์บอนเคดิตจากบริษัทที่มีส่วนในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้การขายคาร์บอนเครดิตกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีตลาดคาร์บอน 2 โครงการ ได้แก่

1. โครงการ Renewable Energy Certificate (REC) เป็นใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รองรับโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ที่ให้ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์ ลม น้ำ ขยะ สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากการขายใบรับรองแก่บริษัทหรือหน่วยงานที่ต้องการลด Carbon Footprint จากการปล่อยทางอ้อม เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน และความเย็นในโรงงาน รวมถึงการเดินเครื่องจักร เปิดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ โดยซื้อขายได้โดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สามารถคำนวณจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต 1MWh = 1 REC

2. โครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) พัฒนาขึ้นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ซึ่งจะมีการรับรองรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทลดหรือกักเก็บได้จากการใช้พลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม การจัดการของเสีย การปลูกต้นไม้ การฟื้นฟูป่า และการจัดการในภาคขนส่ง เป็นต้น โดยจะสะสมเป็นคาร์บอนเครดิตเพื่อขายให้กับบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินปริมาณที่กำหนด

ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พัฒนา “แพลตฟอร์ม FTIX” เป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงทั้งระบบ ทั้งการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ REC อีกด้วย

หุ้นได้ประโยชน์ ธุรกิจคาร์บอนเครดิต

ข้อมูลในปี 2563 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 163 ล้านตันต่อปี และหากต้องการมุ่งสู่การเป็น Net Zero จะทำให้มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตราว 105 ล้านตันต่อปี ขณะที่ปัจจุบันปริมาณการผลิตคาร์บอนเครดิตในไทย ทำได้ราว 13-14 ล้านตันต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณความต้องการในระยะยาว

shutterstock 2134021429

นอกจากนี้ แนวโน้มราคาคาร์บอนเครดิตมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ 120.3 บาทต่อตัน ถือว่าถูกกว่าต่างประเทศราว 52 – 73% ซึ่งทิศทางในอนาคตมีโอกาสที่ราคาจะปรับขึ้นไป
ใกล้เคียงกับต่างประเทศ

บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะเป็นกลุ่มหลักที่ได้ประโยชน์ เพราะคาร์บอนเครดิตถือเป็นผลพลอยได้จากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ดังนั้น หุ้นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก จึงได้ประโยชน์เพราะสามารถขายเครดิตส่วนเกินนั่นเอง

ผู้ที่ได้รับประโยชน์ชัดเจนที่สุด คือ หุ้น BCPG ซึ่งมีโอกาสได้รับรายได้เพิ่มราว 76 ล้านบาท หรือ 4% ของกำไรปกติปี 2565 บนสมมติฐานราคาคาร์บอนเครดิตที่ 120.3 บาทต่อตัน ตามมาด้วย GUNKUL และ SSP ที่มีความโดดเด่นเรื่องการทำ Solar roof  คาดว่าจะเติบโตสูงจากอุปสงค์ของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการมุ่งสู่ Net Zero ได้แก่ หุ้น EA, GPSC, PTT และ STARK ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนในภาคของการขนส่ง

เชื่อเลยว่าในระยะยาวความต้องการคาร์บอนเครดิตจะยังคงสูงขึ้น และผลักดันให้ราคาขายปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นตลาดนี้ยังคงเปิดกว้างอยู่มาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นโอกาสได้ก่อนกัน ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการปลูกป่า การจำกัดขยะ และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน