Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาดร่วงกว่า 100 จุด กังวล ‘เฟด’ เดินหน้า ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ นานกว่าคาด

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (4 พ.ย.) โดยที่ “ดาวโจนส์” ร่วงลงเป็นวันที่ 4 ติดต่อกัน ท่ามกลางความกังวลว่า ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน จะผลักดันให้ “เฟด” เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 32,001.25 จุด ลดลง 146.51 จุด หรือ -0.46% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,719.89 จุด ลดลง 39.80 จุด หรือ -1.06% และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 10,342.94 จุด ลดลง 181.86 จุด หรือ -1.73%

ดาวโจนส์

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 1,000 ราย มาอยู่ที่ 217,000 ราย ในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 220,000 ราย ข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ งและอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป

ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณภายหลังการประชุมนโยบายการเงินว่า ยังเร็วเกินไป ที่เฟดจะพิจารณาเรื่องการระงับการขึ้นดอกเบี้ย ท่าทีที่ทำให้นักลงทุนกังวลว่า วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะยาวนานกว่าที่คาดไว้

ล่าสุด ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์เพดานสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยเฟดสู่ระดับ 5% หรือสูงกว่านั้นในปีหน้า จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.50-4.75%

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยการแข็งค่าของดอลลาร์จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

ส่วนการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีซึ่งเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลกรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐนั้น จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เผชิญกับต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุนและลดการจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุน

หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและการสื่อสารซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง แต่หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมดีดตัวขึ้น ซึ่งช่วยลดช่วงลบของดัชนีดาวโจนส์ในระหว่างวัน

วันนี้ (4 พ.ย.) นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือนกันยายน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo