Stock

‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาดทะยานกว่า 300 จุด นักลงทุนชะลอเข้าซื้อ ก่อนหยุดยาว

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ปิดซื้อขายวานนี้ (1 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ทะยานขึ้นกว่า 300 จุด แม้การซื้อขายจะเป็นไปอย่างเบาบาง เนื่องจากเป็นการดำเนินงานในวันแรกของช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนวันหยุดยาวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 4 ก.ค. เนื่องในวันชาติสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 31,097.26 จุด เพิ่มขึ้น 321.83 จุด หรือ 1.05% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 3,825.33 จุด เพิ่มขึ้น 39.95 จุด หรือ 1.06% และดัชนี แนสแด็กปิดที่ 11,127.85 จุด เพิ่มขึ้น 99.11 จุด หรือ 0.90%

ดาวโจนส์

หุ้นทั้ง 11 กลุ่มในดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดบวก โดยกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่หุ้นบริษัทผลิตชิปยังคงร่วงลงอย่างหนัก หลังจากบริษัทไมครอน เทคโนโลยี เตือนเกี่ยวกับความต้องการที่ชะลอตัวลง โดยราคาหุ้นไมครอนร่วงลง 2.9% และดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่ตลาดฟิลาเดลเฟียร่วงลง 3.8%

สำหรับทิศทางตลาดในระยะต่อไปนั้น บรรดานักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน รายงานการจ้างงานเดือนมิถุนายนของสหรัฐ  และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนกรกฎาคมนี้

นักวิเคราะห์คาดว่า แนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน จะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง โดยข้อมูลจากรีฟินิทีฟ ระบุว่า บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 จะขยายตัว 5.6% ลดลงจาก 6.8% ที่คาดไว้ในช่วงต้นไตรมาส

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่เปิดเผยเมื่อวานนี้ รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้าย ของเอสแอนด์พี โกลบอล ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และต่ำกว่าระดับ 57.0 ในเดือนพฤษภาคม แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 52.4

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ท่ามกลางการลดลงของความต้องการจากลูกค้าต่างประเทศ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 แม้ว่าการจ้างงานปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ

ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดิ่งลงสู่ระดับ 53.0 ในเดือนที่แล้ว ต่ำสุดในรอบ 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน  2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 54.9 จากระดับ 56.1 ในเดือนพฤษภาคม ผลจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ขณะที่การจ้างงานปรับตัวลงเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo