ประธานเฟด “เจอโรม พาวเวล” ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า หลังการประชุมเมื่อวานนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบาย มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งใหญ่สุดในรอบ 28 ปี ระบุ พร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องตามความเหมาะสม เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงเมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) หลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงิน โดยกล่าวว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 0.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ในการประชุมเมื่อวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 28 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2537
“เมื่อพิจารณาจากมุมมองในขณะนี้ ผมคิดว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม ซึ่งเรามองว่า เป็นการปรับขึ้นในระดับที่เหมาะสม”
“ส่วนการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ แน่นอนว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ แต่ผมไม่คิดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 0.75% จะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับเฟด”
ถ้อยแถลงดังกล่าวของนายพาวเวล นับเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า เช่นเดียวกับในเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด เนื่องจากที่ผ่านมา นักลงทุนได้เรียกร้องให้นายพาวเวลใช้มาตรการที่จริงจังในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง
ในการประชุมครั้งนี้ เฟดเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
“อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของเราจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาในการประชุมแต่ละครั้ง และเราจะยังคงสื่อสารความคิดเห็นของเราให้ตลาดรับรู้อย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่เราจะทำได้” นายพาวเวลกล่าว

ตั้งเป้าขึ้นดอกเบี้ย คุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย 2%
ในแถลงการณ์หลังการประชุมนั้น ที่ประชุม FOMC ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยในไตรมาส 1 ปีนี้ ขณะที่ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงเร่งตัวขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทาน และอุปสงค์ อันเป็นผลมาจากโรคระบาด ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง
การประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกัน จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม
หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ
คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้านั้น จะเป็นเรื่องที่เหมาะสม
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve’s Balance Sheet) ซึ่งมีการเผยแพร่พร้อมกับแถลงการณ์เดือนพฤษภาคม โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ดาวโจนส์’ ปิดตลาดพุ่ง 303.70 จุด ขานรับ ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด
- กังวลหนัก! เศรษฐกิจสหรัฐ ไตรมาส 1 หดตัว 1.4% หวั่นมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย
- ‘มอร์แกน สแตนลีย์’ ชี้ ‘เศรษฐกิจสหรัฐ’ เสี่ยงถดถอย 50% แต่มั่นใจ ‘เฟด’ คุมเงินเฟ้อได้