Stock

สำรวจโอกาสและความเสี่ยงตลาดหุ้นสหรัฐ

รู้หรือไม่!! ผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐใน 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2014-2023 ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก สำรวจโอกาสและความเสี่ยงตลาดหุ้นสหรัฐ…ที่นี่

ส่องโอกาสตลาดหุ้นสหรัฐ หากมองตั้งแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร ไปจนถึงผลตอบแทนเฉลี่ย และการเติบโตของกำไรต่อหุ้น ตลาดหุ้นสหรัฐถือว่ามีการเติบโตต่อเนื่องและผลตอบแทนอยู่ในระดับที่น่าสนใจในระยะยาว

ตลาดหุ้นสหรัฐ

สำหรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐ ปัจจัยหลักมาจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงผลตอบแทนในตลาดหุ้น ส่วนความเสี่ยงที่รองลงมา เช่น อัตราเงินเฟ้อ การกระจุกตัวของหุ้นขนาดใหญ่ เป็นต้น

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีอายุเพียง 247 ปี (ถ้าเทียบกับประเทศไทย แค่ช่วงรัตนโกสินทร์ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง) โดยสหรัฐ ใช้เวลาเพียงร้อยปีแซงทุกประเทศมหาอำนาจในวันนั้น ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยังคงความเป็นอันดับหนึ่งอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีพื้นฐานทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ และระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) ที่ให้เอกชนทำธุรกิจแข่งขันกันอย่างเสรีโดยภาครัฐแทรกแซงไม่มาก

โอกาสของตลาดหุ้นสหรัฐ

ปัจจุบัน GDP สหรัฐฯ คิดเป็นราว 25% ของ GDP โลก (ในขณะที่ ขนาดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 55% ของตลาดหุ้นโลก) และมี GDP Per Capita (รายได้ต่อหัวต่อปีของประชากร) อยู่ที่ 76,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ ว่ารวยแค่ไหน คือประชากรสหรัฐฯ ได้เงินเดือนเฉลี่ยกว่า 200,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่าไทยถึง 10 เท่า โดย GDP Per Capita ของไทยอยู่ที่ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (หรือราว 20,000 บาทต่อเดือน) ราว 70-80% ของ GDP สหรัฐ มาจากภาคบริการ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ส่วนใหญ่ GDP จะถูกขับเคลื่อนจากภาคบริการ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา GDP จะถูกผลักดันจากภาคการผลิต

ผลตอบแทนตลาดหุ้นสหรัฐใน 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2014-2023 ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในโลก โดยดัชนี S&P 500 ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี และดัชนี Nasdaq 14% ต่อปี เพราะได้รับแรงสนับสนุนทั้ง 2 ขา โดยขาหนึ่งจากกำไรของบริษัทจดทะเบียน (Earnings Per Share หรือ EPS) ที่อยู่ในดัชนี S&P 500 เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี และดัชนี Nasdaq เติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และขาของ Price to Earnings หรือ P/E ที่ใช้ประเมินด้าน Valuation ของตลาดหุ้น ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวเฉลี่ย 3% ต่อปี และดัชนี Nasdaq ปรับตัวเฉลี่ย 4% ต่อปี ซึ่งคือการขยายตัวของ P/E หรือ P/E Expansion ดังนั้น การที่ดัชนีทั้ง 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะปรับตัวลดลงมาในช่วงโควิด-19 แต่ภาพรวมในระยะยาว มาจากปัจจัยดังกล่าว ดังแสดงแผนภูมิด้านล่าง

ตลาดหุ้นสหรัฐ

หากมองในปี 2023 ดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 22.4% และ 41.2% ตามลำดับ ชนะดัชนีหุ้นโลก MSCI ACWI ที่ปรับตัวขึ้น 18.2% สำหรับผลตอบแทนของดัชนี S&P 500 และดัชนี Nasdaq ล่าสุด ก็ยังคงแข็งแกร่งชนะตลาดโลกและทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ดัชนี S&P 500 ซื้อขายอยู่บน P/E ปี 2024 ที่ 21 เท่า (ตลาดคาดการณ์กำไรปี 2024 เติบโต 10% เมื่อเทียบรายปี YoY) และดัชนี Nasdaq ซื้อขายอยู่บน P/E ปี 2024 ที่ 30 เท่า (ตลาดคาดการณ์กำไรปี 2024 เติบโต 20% YoY) (คิดจากราคาปิด ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2024)

ความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐ

ความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐ ด้วยปัจจุบันดัชนีหุ้นสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว ตลาดก็อาจจะมีความอ่อนไหวกับข่าวร้ายหรือประเด็นข่าวต่าง ๆ มากขึ้นเป็นธรรมดา โดยตัวชี้วัด (Indicator) สำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามหากสนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ นอกจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายตัวแล้ว นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐยังส่งผลกระทบต่อ Sentiment ของตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยหลายสาเหตุ เช่น ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนจะสูงขึ้นตามดอกเบี้ยนโยบาย การเปรียบเทียบการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ไม่มีความเสี่ยงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้น (Earning Yield Gap) ดังนั้น นโยบายการเงินจึงถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น ในปี 2022-2023 ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย 11 ครั้งจาก 0%-0.25% ก่อนเดือนมีนาคม 2022 สู่ระดับ 5.25%-5.50% ในเดือนกรกฎาคม 2023 ซึ่งเป็นดอกเบี้ยระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี (เพื่อคุมเงินเฟ้อที่สูงระดับ 8% ในปี 2022) ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมกราคม 2022 ที่ตลาดเริ่มกังวลกับการขึ้นดอกเบี้ยถึงเดือนตุลาคม 2022 ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงกว่า 25% ในระยะเวลาเพียง 10 เดือนดังกล่าว

ตลาดหุ้นสหรัฐ

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของตลาดหุ้นสหรัฐที่นักลงทุนต้องคำนึงถึง ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ (ซึ่งส่งผลต่อนโยบายการเงิน ดังที่กล่าวไปข้างต้น) การกระจุกตัวของหุ้นขนาดใหญ่ ปัจจุบันหุ้น 7 นางฟ้า ซึ่งประกอบด้วย หุ้น Apple, Amazon, Alphabet, Meta, Microsoft, Nvidia และ Tesla คิดเป็นน้ำหนักราวครึ่งหนึ่งของดัชนี Nasdaq ความยากในการประเมินมูลค่าของบริษัทที่ยังไม่มีกระแสเงินสดในระยะอันใกล้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นเทคโนโลยีใหม่ และ Startup รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2024 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้ก็มีอยู่ในทุกตลาด ไม่ใช่แค่เพียงตลาดหุ้นสหรัฐ ดังนั้น ในภาพใหญ่ ควรจะพิจารณาถึงแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้น ๆ แนวทางนโยบายการเงิน เช่น มุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คงอัตราดอกเบี้ย หรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโตของ GDP การบริโภคภาคครัวเรือน การจ้างงาน เป็นต้น เพื่อเฟ้นหาประเทศที่มีโอกาสในการลงทุน

ส่วนการลงทุนหุ้นรายตัว ควรจะทำการศึกษาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นรายตัว เพื่อให้เรามีความเข้าใจในบริษัทหรือธุรกิจที่จะลงทุน และจะได้ไม่หวั่นไหวไปกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นรายวันจนมากเกินไป โดย Noise ของราคาหุ้นรายวันก็อาจเกิดจากประเด็นความเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น เช่น ถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ ในขณะที่หุ้นตัวที่เราลงทุนอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากปัจจัยดังกล่าวก็เป็นได้ ดังนั้น เช่นเดียวกับการลงทุนหุ้นในทุกประเทศ นักลงทุนควรจะเข้าใจธุรกิจของบริษัท เพื่อให้การซื้อหุ้นเป็นไปเพื่อการลงทุน ไม่ใช่การเก็งกำไร

ที่มา : พิชัย ยอดพฤติการณ์ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK