Stock

4 ไอเดียหาหุ้นปัง เมื่อตลาดหุ้นผันผวน

“ตลาดหลักทรัพย์” เปิด 4 ไอเดียหาหุ้นปัง เมื่อตลาดหุ้นผันผวน ทำอย่างไรจะสามารถเป็นผู้ชนะท่ามกลางภาวะตลาดเช่นนี้

สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการลงทุน ก็คือเรื่องของความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากตลาดกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทนกลับมา ในทางตรงกันข้าม หากตลาดอยู่ในช่วงขาลง น้อยคนนักที่จะได้รับผลตอบแทนในช่วงภาวะตลาดเช่นนี้ แต่หากเราเข้าใจในสิ่งที่ลงทุนจริง ๆ รวมถึงรู้วิธีการหาหุ้นที่ สามารถเป็นผู้ชนะท่ามกลางภาวะตลาดเช่นนี้ ก็นับว่าเป็นข้อได้เปรียบมาก ๆ วันนี้เรายกตัวอย่างการหาหุ้น 4 วิธี เพื่อเป็นไอเดียให้นักลงทุนนำไปศึกษาต่อ ได้ในบทความนี้ได้เลย

ตลาดหุ้น

ตัวอย่างการหาหุ้น 4 วิธี เพื่อเป็นไอเดียให้นักลงทุนนำไปศึกษาต่อ ดังนี้

1. บริษัทที่มีกำไรอย่างต่อเนื่อง

การดูผลประกอบการย้อนหลังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เรารู้ว่าที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตไปในทิศทางที่เราคาดหวังเอาไว้หรือไม่ อย่างด้านรายได้ ก็ควรมีการเติบโตไปพร้อมกับผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย

ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงบริษัทที่มีการขาดทุนติดต่อกัน ซึ่งทั้งหมดนั้นสามารถประเมินได้จาก ROA กับ ROE ในแต่ละบริษัท

  • ROA (Return of Assets) อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์

คือ ตัวเลขที่สะท้อนถึงการสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ มากน้อยแค่ไหน ยิ่งตัวเลข ROA สูง ยิ่งสะท้อนว่ามีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนสูง จากสินทรัพย์

วิธีคิด

  • ROA = (กำไรสุทธิของบริษัท ÷ สินทรัพย์รวมของบริษัท) x 100%

ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่ง มีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 2,000 ล้านบาท เท่ากับว่าบริษัทนี้มีค่า ROA คือ (200 ÷ 2,000) x 100 = 10%

สรุปก็คือ บริษัทนี้จะใช้สินทรัพย์รวม 100 บาท เพื่อสร้างกำไรสุทธิ 10 บาท

ทั้งนี้ ROA ของแต่ละอุตสาหกรรมจะแตกต่างกันออกไป โดยเราสามารถนำ ROA ของปีนี้ ไปเทียบกับปีก่อนหน้า เพื่อวัดความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ๆ ได้

  • ROE (Return on Equity) อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น

คือ ตัวเลขที่บ่งบอกถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งหากค่า ROE สูง หมายความว่า บริษัทสามารถทำกำไรในส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูง ในทางกลับกัน ROE ต่ำ หมายความว่า บริษัทสามารถทำกำไรในส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำนั่นเอง

วิธีคิด

  • ROE = (กำไรสุทธิของบริษัท ÷ สัดส่วนของผู้ถือหุ้น) x 100%

ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่ง มีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท มีสัดส่วนของผู้ถือหุ้น 600 ล้านบาท เท่ากับว่าบริษัทนี้มีค่า ROE คือ (200 ÷ 600) x 100 = 33%

สรุปก็คือ บริษัทนี้จะใช้ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ในการสร้างกำไร 33 บาท

ตลาดหุ้น

2. บริษัทที่มีสภาพคล่อง

การดูงบกำไรขาดทุนต่าง ๆ จะช่วยให้เราสามารถรู้ว่าตอนนี้สถานการณ์ของบริษัท มีกำไรหรือขาดทุนมากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนนี้ก็อาจไม่ได้มีเงินสดเข้าบริษัทจริง ๆ ก็ได้

ดังนั้น เพื่อให้เรารู้ถึงเงินหมุนเวียนภายในบริษัท ควรดูงบกระแสเงินสด ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน

เป็นกระแสเงินสดที่เกิดจากการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น เงินจากการขายสินค้า เงินเดือนพนักงาน ซึ่งหากตัวเลขส่วนนี้เป็นบวก แสดงว่าบริษัทมีการดำเนินงาน และกระแสเงินสดที่ดี แต่ในทางกลับกัน หากตัวเลขติดลบ แสดงว่าในช่วงเวลานั้น บริษัทมีรายจ่ายที่เป็นเงินสดออกไป มากกว่าเงินสดที่ได้รับกลับมา

  • กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน

ถือเป็นส่วนที่แสดงถึงการได้เงินสดมา และการจ่ายเงินสดออกไป ไม่ว่าจะเป็นการขายตึกสำนักงานของบริษัท หรือการซื้อเครื่องจักรเพื่อทำงาน

หากกระแสเงินสดในส่วนนี้เป็นลบ ก็สะท้อนได้ว่าบริษัทนั้น ๆ อาจนำเงินไปลงทุนอะไรบางอย่าง เพื่อสร้างผลตอบแทนกลับมาในอนาคต ซึ่งเราควรจะพิจารณาด้วยว่า สิ่งที่บริษัทไปลงทุนจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน แต่หากกระแสเงินสดส่วนนี้เป็นบวก อาจสะท้อนว่าบริษัทได้ขายสินทรัพย์บางอย่างออกไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทอาจกำลังขาดสภาพคล่องอยู่

  • กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน

เป็นกระแสเงินสดเข้าและออก ผ่านการจัดหาเงินทุนของบริษัท โดยหากตัวเลขเป็นบวก แสดงว่าบริษัทได้เงินเพิ่มขึ้น เช่น การกู้เงินจากธนาคาร การกู้ยืมจากนักลงทุน การออกหุ้นกู้ และหากตัวเลขเป็นลบ แสดงว่าบริษัทจ่ายเงินสดออกไป เช่น การจ่ายเงินปันผล การชำระหนี้ต่าง ๆ

3. บริษัทที่มีปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว

การเลือกบริษัทที่สามารถเติบโตได้ในภาวะตลาดขาลง อาจจำเป็นต้องเลือกบริษัทที่มีจุดเด่น หรือมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวที่แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด เพราะนั่นเท่ากับว่าสินค้าของบริษัทนั้น จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

และสามารถเพิ่มโอกาสในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดได้มากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจหรือบริษัทที่มีคู่แข่งน้อยรายจะมีความได้เปรียบกว่าธุรกิจ หรือบริษัทที่อยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงด้วย เช่น ธุรกิจสนามบิน ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดคู่แข่งรายใหม่ ๆ ขึ้นมา เพราะธุรกิจนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอีกด้วย ดังนั้น จึงถือว่ามีปัจจัยเฉพาะตัวที่แตกต่าง

ตลาดหุ้น

4. บริษัทที่รับรู้รายได้แน่นอนในอนาคต

ปกติแล้วบริษัทต่าง ๆ จะมีรายได้ที่แปรผันไปตามปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ความต้องการของผู้บริโภค ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถประมาณการรายได้ของบริษัทนั้น ๆ ได้เลย

แต่ว่าก็มีธุรกิจบางประเภท ที่เราสามารถรับรู้รายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนในอนาคต เช่น ธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน มีสัญญาที่ชัดเจน แม้เราจะเห็นรายได้ที่แน่นอนในอนาคต ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะมีกำไรเสมอไป เพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึง ทั้งเรื่องต้นทุน หรือนโยบายของภาครัฐ ดังนั้นเราจึงควรพิจารณาหลายปัจจัยร่วมด้วย และเครื่องมือที่นิยมนำมาใช้ช่วยวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก ที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ คือ PEST Analysis โดยจะแบ่งเป็น 4 ด้านด้วยกัน

  • Political ด้านการเมือง หรือนโยบายภาครัฐของประเทศ ว่าเอื้อต่อการทำธุรกิจ หรือจะส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
  • Economic ด้านเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงต้นทุนของธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นได้
  • Social ด้านสังคม อย่างเรื่องวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศ​ จะมีผลต่อการขายสินค้าของธุรกิจ
  • Technology ด้านเทคโนโลยี หากประเทศมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอย่างครอบคลุม ก็จะเป็นผลดีต่อธุรกิจด้วย

ใครที่กำลังรอให้ตลาดเป็นขาขึ้นก็อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะจริง ๆ แล้ว ตลาดหุ้นก็มีวัฏจักรที่เคลื่อนไหวตามปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระยะถดถอย ระยะเริ่มฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวแล้ว หรือระยะเริ่มถดถอย

และไม่ว่าตอนนี้เราจะอยู่ในช่วงไหน หรือแต่ละช่วงต้องใช้เวลาอีกเท่าไร หากเราเข้าใจธรรมชาติของตลาดหุ้น เข้าใจลักษณะธุรกิจที่เลือกลงทุน รวมถึงมีวินัย ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดการขาดทุนจากสถานการณ์ผันผวน และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ดีในภาวะตลาดขาลงอีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK