Stock

ส่องเคล็ดลับคัดหุ้นแกร่ง วิกฤติแค่ไหนก็เอาอยู่!!

“กูรูหุ้น” เปิด 6 เคล็ดลับคัดหุ้นแกร่ง วิกฤติแค่ไหนก็เอาอยู่!!

ในช่วงตลอดหลายปีมานี้ ถือเป็นช่วงที่โลกของเรา รวมถึงประเทศไทยเอง ต้องเผชิญหน้ากับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนหลาย ๆ คน ก็คงได้รับผลกระทบกันไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับว่า สินทรัพย์ที่เลือกติดพอร์ตเอาไว้นั้น “แข็งแกร่ง” มากแค่ไหน

คัดหุ้นแกร่ง

แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าสินทรัพย์ที่เราสนใจ โดยเฉพาะ “หุ้น” ตัวไหนที่มีความแข็งแกร่ง และพร้อมสู้กับวิกฤติความผันผวนในระยะยาว ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต? “มนชัย มกรานุรักษ์” หัวหน้าสำนักวิจัย ของ บล.ทิสโก้ แนะนำเคล็ดลับการคัดหุ้นแกร่ง ที่ไม่ว่าจะวิกฤติแค่ไหน ก็เอาอยู่

เบื้องต้น “มนชัย” ระบุว่า จุดประสงค์ของการลงทุนในหุ้น ที่เรานั้น ควรต้องมองว่าเป็นวิธีการ “ต่อยอดเงิน” ที่เราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ให้งอกเงยมากขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม เราถึงต้องลงทุนใน “กลยุทธ์แบบลักษณะพื้นฐาน” (Fundamental) ให้เป็นส่วนหลักในพอร์ตของเรา และ “เน้นในการมองภาพระยะยาว” เพราะถ้าหากว่าเราไม่ได้ศึกษาพื้นฐานของบริษัท หรือวางกลยุทธ์การลงทุนแบบพื้นฐานเอาไว้จริง ๆ เมื่อมีข่าวสารที่มีผลกระทบต่อหุ้นบางตัวออกมา หรือเกิดวิกฤติอะไรบางอย่าง เราเองก็อาจจะขาดทุนหนักได้

ปัจจัยสำคัญของหุ้นแกร่ง

เมื่อเข้าใจถึงคอนเซปต์ของการลงทุนหุ้นทั้ง 2 อย่างแล้ว เราจึงค่อยเริ่มเข้าสู่กระบวนการค้นหาหุ้นแกร่ง ผ่านปัจจัยสำคัญเบื้องต้นต่าง ๆ ที่เราต้องตรวจสอบ เช่น เรื่องของกระแสเงินสด และ Financial Ratio ต่าง ๆ เช่น Business Model งบดุล งบการเงิน หรืองบกำไรขาดทุน เป็นต้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การดูว่าบริษัทนั้น เป็น “ผู้นำในตลาดของอุตสาหกรรมที่เขาอยู่” (Market Leader) หรือไม่ เพราะบริษัทที่เป็นผู้นำในตลาดจะมีโอกาสอยู่รอดในช่วงภาวะวิกฤติ มากกว่าบริษัททั่ว ๆ ไป ซึ่งนิยามของ Market Leader ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงบริษัทที่มี Market Share เป็นอันดับ 1 เท่านั้น แต่คือบริษัทที่มี “ความโดดเด่นเฉพาะตัว” เป็นหลักด้วย

นอกจากนี้ “การจ่ายเงินปันผล” ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการลงทุนในระยะยาว คือการวางเงินเอาไว้ในพอร์ต โดยปล่อยให้เงินทำงาน ฉะนั้น การปันผลจึงเป็นเหมือนกับดอกเบี้ย ที่งอกเงยเพิ่มขึ้นมา ดังนั้น หากว่าหุ้นที่เราเจอ เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี และเป็นผู้นำตลาด แต่ไม่ได้มีการจ่ายเงินปันผลที่มากพอ ก็อาจจะเป็นการดีกว่า ถ้าหากเราเลือกที่จะตัดหุ้นตัวนั้นออกจากพอร์ตของเราไป

เข้าใจสไตล์การลงทุน และประเภทของหุ้นที่เหมาะสม

แม้จะเป็นการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก แต่แน่นอนว่าเราเอง ก็ควรที่จะต้องเข้าใจสไตล์การลงทุนของตัวเองด้วย เช่น ชอบระดับความเสี่ยงสูง หรือเสี่ยงต่ำ หรือชอบในอุตสาหกรรมไหนเป็นพิเศษ เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัท รวมถึงศึกษาในพื้นฐานของบริษัทได้ลึก และแม่นยำขึ้นด้วยเช่นกัน ก่อนที่เราจะนำมาเทียบกับหุ้นแต่ละประเภทที่ว่า ทั้งหมดนี้ เข้าข่ายกลยุทธ์การลงทุนแบบไหน ซึ่งรูปแบบของกลยุทธ์นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 แบบ คือ

  1. Growth หรือหุ้นที่มีการเติบโตสูง ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นบริษัทใหม่ ที่มีการเติบโตสูง ซึ่งหุ้นประเภทนี้ มักจะตามมาด้วยระดับความเสี่ยงที่สูง แต่ก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูง จาก P/E ที่สูงด้วยเช่นกัน
  2. Value หรือหุ้นของบริษัทที่มีทั้งคุณค่า มูลค่า และมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่มักมีสัญญาต่าง ๆ ที่ชัดเจน และสามารถคำนวณกำไรได้แม่นยำในระยะยาว ซึ่งหุ้นประเภทนี้ จำเป็นที่จะต้องใช้ความอดทน และความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูง
  3. Momentum หรือหุ้นที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ซึ่งมีแนวทางที่ใกล้เคียงกับ “หุ้นวัฏจักร” ที่มีโมเมนต์ และจังหวะของตัวเอง เช่น บริษัทน้ำมัน ที่มักจะมีมูลค่าสูงขึ้น เมื่อราคาน้ำมันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น โดยหุ้นที่เข้าข่ายนี้ หากเลือกถูกตัวและถูกจังหวะ ก็มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า ในบรรดาทุกกลุ่ม หุ้นที่เข้าข่ายนี้จะถือว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดด้วยเช่นกัน
  4. Yield หรือหุ้นที่มีสภาพคล่องทางการเงินที่แข็งแรง หรือมีเงินสดเข้าสู่บริษัทตลอดเวลา ซึ่งทำให้หุ้นจากบริษัทเหล่านี้ มีความสามารถในการจ่ายปันผลในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเหมาะกับนักลงทุนที่อยากเน้นในเรื่องเงินปันผล หรือการสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าการฝากเงินทั่วไป
  5. Technical หรือการลงทุนในหุ้นที่มีสัญญาณทางเทคนิค ที่เหมาะกับนักลงทุน ที่มีทักษะในการวิเคราะห์ทางเทคนิค หรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์สูง และมีระเบียบวินัยในการลงทุนที่เคร่งครัด

ซึ่งเบื้องต้น สำหรับการหาหุ้นแกร่ง ที่จะตอบโจทย์ในคอนเซปต์ของการลงทุนระยะยาว กลุ่มหุ้นที่มีคุณสมบัติ ที่เหมาะกับการคัดติดพอร์ต จึงเป็นกลุ่ม Value และ Yield นั่นเอง

คัดหุ้นแกร่ง

ทำความเข้าใจในกระบวนการลงทุน

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ ที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจเพื่อการคัดหุ้นแกร่ง ก็คือเรื่องของ กระบวนการลงทุน ที่มีขั้นตอนทั้งหมด 3 ขั้นตอน คือ

  1. การเลือกหุ้นที่เราสนใจ และเริ่มวิเคราะห์เจาะลึกลงสู่รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ที่มาที่ไปของบริษัทที่เราสนใจ เอกสารจากสำนักงานต่าง ๆ หรือโบรกเกอร์ ที่มีการสรุปข้อมูลจากนักวิเคราะห์มืออาชีพมาให้แล้ว และกระแสของสังคม ที่มีการพูดถึง หรือวิเคราะห์ในหุ้นตัวนั้น ๆ ว่ามีจุดแข็ง หรือจุดอ่อนอะไรบ้าง เป็นต้น
  2. มองหาจังหวะของการเข้าออก ซึ่งสำหรับการลงทุนระยะยาว กระบวนการข้อนี้อาจไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนัก ในช่วงที่เราถือหุ้นเอาไว้ แต่อาจจะมีผลเล็กน้อย ในจังหวะที่เราตัดสินใจจะขายหุ้นตัวนั้น ซึ่งเบื้องต้น เราอาจนำความรู้ทางสัญญาณเทคนิค มาประกอบได้
  3. จัดพอร์ตการลงทุน โดยเน้นไปที่ความเหมาะสมของจำนวนหุ้นในพอร์ต และการกระจายความเสี่ยง ผ่านการถามตัวเองว่า เราจะลงทุนในหุ้นแบบไหน และสัดส่วนเท่าไร เช่น ถ้าเรารับความเสี่ยงได้ต่ำ เราอาจลงทุนในหุ้นกลุ่มกลยุทธ์ Yield และ Value ที่เยอะขึ้นหน่อย และอีก 10% – 20% ที่เหลือ เราอาจเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มกลยุทธ์ Momentum หรือกลุ่ม Growth ที่เน้นในการสร้างผลตอบแทนระยะสั้น เป็นต้น

ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องของการจัดพอร์ต นักลงทุนควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าเราต้องการอะไรจากการลงทุนกันแน่

กลยุทธ์การลงทุนแบบ “Fundamental Investment”

สำหรับการจะเป็นนักลงทุน VI หรือสายพื้นฐานนั้น เริ่มต้นคุณมนชัยได้แนะนำว่า เราเองต้องทำตัวให้เป็น “นักช็อป” ที่เน้นการหาของลดราคาที่มีคุณภาพ ซึ่งนิยามในที่นี้ หมายถึง เมื่อเราเจอหุ้นที่น่าสนใจ และราคากำลังอยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนควรที่จะทำการบ้าน และค่อย ๆ ดู หรือศึกษาพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น ๆ ก่อน เพราะนักลงทุนเอง จะได้รู้ว่า ที่ราคาลงนั้น จะมีผลกระทบอะไรในระยะยาวหรือเปล่า และหุ้นตัวนั้น ยังมีความเป็น Market Leader หรือมีกระแสเงินสด ที่ดีอยู่หรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องทำความเข้าใจด้วยว่า “หุ้นที่ราคาถูก ไม่ใช่หุ้นที่มีราคาต่ำ” แต่นักลงทุน ควรเปรียบเทียบ P/E กับการเติบโตของผลประกอบการก่อน เพราะในบางครั้งหุ้นที่มีราคาแพง ก็อาจจะเป็นหุ้น Undervalued ได้ จากพื้นฐานที่มีความแข็งแกร่ง และมีโอกาสเติบโตได้สูงในอนาคต

แล้วเราจะหาหุ้นที่เข้าข่าย Undervalued เพิ่มเติมได้อย่างไรบ้าง ?

เบื้องต้น ให้เราหาค่า PEG (Price/Earnings to Growth Ratio) ของบริษัทนั้น ๆ โดยการนำ P/E Ratio ไปเทียบกับ Earning Growth เช่น หากบริษัท A มีการเติบโต 10% แต่ P/E เป็น 12 นั่นเท่ากับว่า PEG จะเท่ากับ 1.2 ซึ่งนั่นถือว่าเป็นหุ้นที่มีราคาแพง เพราะตามหลักการแล้ว “PEG ควรที่จะต้องน้อยกว่า 1” ดังนั้น หากจะซื้อหุ้น A ตัวนี้ จึงควรรอจังหวะที่หุ้นย่อตัวลงมาแทนถึงจะดีกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เราจะหาหุ้นที่เข้าข่าย Undervalued เจอแล้วก็จริง แต่เราเองก็ต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบด้วยว่าหุ้นตัวนี้ ในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะหุ้นบางตัว ก็อาจจะมีแนวโน้มที่มีราคาถูกลงแล้ว ถูกลงอีกไปเรื่อย ๆ เช่นกัน

สุดท้ายเมื่อเราตัดสินใจเลือกลงทุนในหุ้นที่เรา ทำการบ้าน และศึกษามาอย่างดีแล้ว สิ่งที่เราควรต้องมีเพิ่มเติม ก็คือ “ความอดทน” “การเฝ้ารอในระยะเวลาการลงทุน” และ “ความเชื่อมั่น” เพราะแน่นอนว่าตลาดหุ้นมักจะมีการวิ่งขึ้นลงในทุก ๆ วันอยู่แล้ว ฉะนั้น การลงทุนในระยะยาว เราจึงจำเป็นที่จะต้องมี 3 คุณสมบัติข้างต้น เพื่ออดทนต่อการแกว่งของตลาด และปล่อยให้หุ้นที่เราเลือกทำหน้าที่ของตัวเองต่อไปในระยะยาว

คัดหุ้นแกร่ง

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio)

อีกหนึ่งจุดสำคัญ ที่นักลงทุนห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด สำหรับการคัดหาหุ้นแกร่ง ก็คือเรื่องของการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ซึ่งจริง ๆ แล้วคุณมนชัยได้บอกเอาไว้ว่า เทคนิคการวิเคราะห์นั้นมีเยอะมาก ๆ แต่ว่าพื้นฐานในการวิเคราะห์จริง ๆ จะมีอยู่ทั้งหมด 4 อย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย

  1. การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio) โดยนักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ผ่าน อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน รวมถึงตรวจสอบในเรื่องของอัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ ว่ามีจำนวนที่ค้างไว้อยู่มากน้อยเพียงใด และอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ ที่ถ้าหากว่ายิ่งมีสัดส่วนที่น้อย นั่นหมายความว่า บริษัทแห่งนี้มีการหมุนเงินได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทไม่ติดขัด
  2. การวิเคราะห์ความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio) ซึ่งเบื้องต้น นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ผ่านอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) อัตรากำไรสุทธิของบริษัท (Net Profit Margin) และ อัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ซึ่งถ้าหากมีมาร์จินต่าง ๆ ที่สูงอย่างต่อเนื่อง นั่นเท่ากับว่าบริษัทนั้น มีความมั่นคงสูง เช่นกัน
  3. การวิเคราะห์ความสามารถ หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Efficiency Ratio) เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญ นอกเหนือจากการดูว่าสินทรัพย์ของบริษัทมีอะไรบ้าง ซึ่งเบื้องต้นนักลงทุนสามารถตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้ผ่านการดูอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) และอัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover) ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยบอกให้เราเห็นได้ว่า บริษัทนั้น ๆ เอาสินทรัพย์ที่มี ไปทำกำไรได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง เช่น ถ้าหากว่าบริษัท A มีสินทรัพย์อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท และสามารถทำกำไรได้ที่ 1 พันล้านบาท กำไรที่ทำได้ก็จะอยู่ที่ 10% แต่ถ้าเป็นบริษัท B ที่มีสินทรัพย์อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท แต่สามารถทำกำไรได้แค่ 1 พันล้านบาท นั่นเท่ากับว่า อัตรากำไรที่ทำได้จะอยู่ที่ 1% เท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัท A นั้นสามารถบริหารสินทรัพย์ของบริษัทได้มีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัท B อย่างชัดเจน
  4. การวิเคราะห์โครงสร้างของเงินทุน หรือภาระหนี้สิน (Leverage Ratio or Financial Policy Ratio) ที่เบื้องต้นเราสามารถวิเคราะห์ได้ผ่านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage) และอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout) ของบริษัทนั้น ๆ เช่นกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้เราสามารถเห็นถึง สุขภาพทางการเงินของบริษัทได้ว่า บริษัทนี้มีหนี้มากน้อยแค่ไหน มีความสามารถในการชำระหนี้หรือไม่ และมีสภาพคล่องทางการเงินที่มากพอ สำหรับการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่องหรือไม่ นั่นเอง

เคล็ดลับเสริม เพื่อการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน

นอกจากการแนะนำถึง 4 ปัจจัย สำหรับการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินแล้ว คุณมนชัยก็ยังได้หยิบยกอัตราส่วนเบื้องต้นของบริษัทมาบอกเล่า ตามมุมมองของคุณมนชัยเอง ที่มองว่าบริษัทที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกันแล้ว D/E Ratio นั้นไม่ควรที่จะเกิน 3 หรือ 4 ขึ้นไป และหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (Gearing) นั้น หากว่าอัตราส่วนที่ต่ำกว่า 3 ลงไป ก็ถือได้ว่าบริษัทแห่งนี้ มีความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่งเช่นกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของ Gross Margin หากอยู่ในระดับ 30% กว่า ๆ ก็ถือได้ว่าอยู่ในระดับที่โอเค และ Net Margin หากอยู่ในระดับที่สูงกว่า 10% ก็ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความแข็งแกร่งในระดับหนึ่งเช่นกัน ซึ่งในมุมมองของคุณมนชัยการที่ Net Margin ควรต้องสูงกว่า 10% ขึ้นมานั้น ก็เพราะว่าถ้าหากว่าบริษัทมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น หรือมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย การมี Net Margin ที่สูง จะช่วยรองรับความผันผวนในส่วนนี้ และช่วยป้องกันการขาดทุนให้กับบริษัทได้

และสุดท้าย อย่าลืมที่จะเปรียบเทียบสภาพคล่องทางการเงิน กับอัตราส่วนทางกำไรด้วย เพราะบางบริษัท ถึงแม้ว่าอาจมีตัวเลขกำไรที่ดูดี และบวกอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าหากว่ากระแสเงินสดติดลบต่อเนื่องในทุก ๆ ปี นั่นก็ถือว่าไม่เวิร์กเช่นกัน เพราะการที่กระแสเงินสดติดลบต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า บริษัทนี้มีเงินไหลออกจากภายในตลอดเวลานั่นเอง

ทั้งหมดนี้ คือเคล็ดลับในการคัดหุ้นแกร่ง ให้พร้อมต่อสู้ได้ในระยะยาว และต่อสู้กับทุกวิกฤติที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต จากคุณมนชัย ที่เรียกได้ว่าเป็นหลักการสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนสายพื้นฐาน ที่สามารถนำไปใช้เพื่อตรวจสอบ และเปรียบเทียบสำหรับการคัดเลือกหุ้นติดพอร์ตในระยะยาวได้นั่นเอง

เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ฉะนั้น การเตรียมพร้อม การศึกษา และการทำความเข้าใจ ในหุ้นที่เราสนใจจะนำมาติดพอร์ตในระยะยาว จึงเป็นเหมือนกับโอกาสที่จะช่วยให้คุณ เอาชนะในทุกสนามการลงทุน ไม่ว่าจะมีวิกฤติ หรือความผันผวนอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

ขอบคุณ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK