Stock

การลงทุนมีความเสี่ยง!! เช็ก 6 สัญญาณอันตรายหุ้นแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

การลงทุนมีความเสี่ยง เตือนภัย!! เปิด 6 สัญญาณอันตรายหุ้นแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรต้องศึกษา และระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน” จากประโยคข้างต้นที่ว่ามานี้ นักลงทุนหลาย ๆ คนคงเคยได้ยิน หรือเคยเห็นจนชินตา ซึ่งเปรียบเสมือนการเป็นตัวช่วยย้ำเตือน ให้กับนักลงทุนอยู่เสมอว่า การเลือกลงทุน เราจะมองเฉพาะในเชิงบวกของสินทรัพย์นั้นไม่ได้ แต่เราต้องวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงของสินทรัพย์นั้น ๆ ด้วย เพื่อให้เรา เจอกับสินทรัพย์ที่มีคุณภาพ และยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญมาก สำหรับการลงทุนระยะยาว

การลงทุนมีความเสี่ยง

แต่การจะตรวจสอบความเสี่ยงของสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะ “หุ้น” นั้น ล้วนมีหลายปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึง อย่างละเอียดถี่ถ้วน และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ SET in the city 2023 ได้เชิญ คุณทรงกลด วงศ์ไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ จาก บลป.เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล มาบรรยายในเรื่องของ การเปิดสัญญาณอันตราย เพื่อเตือนภัยว่าหุ้นแบบไหน ที่นักลงทุนควรหลีกเลี่ยง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในวงการของคุณทรงกลด ที่ได้สั่งสมมา

แน่นอนว่า หุ้นของธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ล้วนต้องเคยผ่านเกณฑ์การตรวจสอบ จากทั้งตลาดหลักทรัพย์ และ ก.ล.ต. อีกทั้งเมื่อหุ้นได้ออกจำหน่ายให้แก่นักลงทุนแล้ว ก็ยังคงต้องผ่านมาตรฐานการควบคุม และตรวจสอบอีกอยู่ดี ซึ่งหากมีอะไรที่ผิดปกติ หรือน่าสงสัยของหุ้นตัวนั้น ก็จะมีสัญลักษณ์ NP หรือ SP ที่แสดงเอาไว้ เพื่อเตือนนักลงทุนถึงสถานะของบริษัทเช่นกัน

แต่บางครั้ง การแจ้งเตือนเหล่านั้น ก็อาจจะช้าเกินไปในบางสถานการณ์ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นักลงทุน ควรต้องหาวิธีการ ที่ทำให้ “รู้ก่อน” เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายตั้งแต่ยังไม่เริ่ม และนั่นจึงเป็นที่มาของ “Six Corporate Risks Model” ที่คุณทรงกลด ได้แนะนำเอาไว้ถึง 6 กรณีที่ควรต้องจับตา เกี่ยวกับธุรกิจ ที่เราจะเข้าไปลงทุน หรือซื้อหุ้น ซึ่งประกอบไปด้วย

การลงทุนมีความเสี่ยง

1. Industrial Risks

ความเสี่ยงภาคอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ รวมถึงธุรกิจที่เชื่อมโยงทางอ้อม และสามารถส่งผล Domino Effect ได้ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเส้นทางของธุรกิจ การตรวจสอบ และติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงทางภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรทำเสมอ

ตัวอย่างเช่น ในวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 ธุรกิจอสังหาฯ ในไทยตกเป็นหน้าด่านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด บางส่วนของธุรกิจต้องปิดตัว และธุรกิจที่เปิดบริการต่อ ก็ต้องรับมือกับความเสี่ยงในการปิดตัว ซึ่งส่วนนี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจโบรกเกอร์ที่ต้องปิดตัวตามกันไปหลายแห่งด้วย

2. Financial Risks

ความเสี่ยงทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนมักละเลย โดยมักให้ความสำคัญกับการเติบโตทางรายได้เท่านั้น
การแกะงบ และตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเงิน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันความเสี่ยงที่สำคัญ ตัวอย่างเช่นการตรวจสอบฐานะการเงินของบริษัท, ประวัติการผิดนัดชำระหนี้, อันดับเครดิต, สภาพคล่องและกระแสเงินสด, การหมุนเวียนสินค้า, และความน่าเชื่อถือของรายงานบัญชี เป็นต้น

นักลงทุนควรตรวจสอบทุกปัจจัยเหล่านี้เพื่อป้องกันสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน และลดความเสี่ยงทางการเงินที่อาจทำให้เกิดสถานะ Default ในทันที

3. Operating Risk

ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนควรระมัดระวัง เพราะส่วนนี้ เป็นหัวใจหลักของการเดินธุรกิจ ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงได้แก่ การก่อสร้างโรงงานตามมาตรฐาน, ความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิต, ความซับซ้อนของธุรกิจ, และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหตุการณ์จริงแบบธุรกิจโรงกลั่นที่ต้องปิดตัวเมื่อซัปพลายเออร์ยกเลิกสัญญาส่งวัตถุดิบ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านนี้

การลงทุนมีความเสี่ยง

4. Marketing Risks

ความเสี่ยงด้านการตลาดมีปัจจัยหลายอย่างที่นักลงทุนควรพิจารณา เช่น ภาวะตลาดแข่งขัน, คุณภาพลูกหนี้, การขยายธุรกิจ หรือเข้าสู่ตลาดใหม่, และยืดหยุ่นของลูกค้า

ในเคสของบริษัทเครื่องถ่ายเอกสารที่เลือกขยายธุรกิจไฟฟ้า และตกลงทำ PPA หลายตัว แต่เจอปัญหาจากความผิดพลาดในการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องเลือกซื้อธุรกิจโรงแรมแทน แต่สุดท้าย ก็พบว่าการขยายไปในส่วนต่าง ๆ ล้วนทำให้บริษัทนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจทั้งหมด

5. Strategic & Management Risks

ความเสี่ยงจากการวางแผน และการบริหารของธุรกิจ เป็นปัจจัยสำคัญที่ชี้วัดความเสี่ยงได้ดี และยังเป็นมาตรฐานกฎเกณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาว นักลงทุนควรพิจารณา 4 ปัจจัย :

  • ESG : การโฟกัสใน ESG เป็นสัญญาณของความเสี่ยงต่ำ, การไม่สนับสนุน ESG อาจทำให้เสี่ยงถูกลด หรือถูกกีดกัน
  • Compliance : การมี Compliance ช่วยลดความเสี่ยง ในเรื่องของความเรียบร้อยเท่ากับการบริหารข้อมูลอย่างเป็นมาตรฐาน
  • การลงทุน : การตรวจสอบสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย, การลงทุนที่เน้นความเสี่ยงสูงเช่น FX หรือ Cryptocurrency จะมีผลกระทบในทันที เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้น
  • การลงทุนในธุรกิจอื่น : การประเมินความเสี่ยงในการลงทุน หรือบริหารธุรกิจที่ไม่ถนัด จะสามารถช่วยลดความผิดพลาด และความเสี่ยงได้

เคสที่ถูกนำเสนอ เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ไม่สามารถหมุนเงินได้ จากการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ธุรกิจที่ผิดพลาด ทำให้ขาดทุน และมีการล้มละลายในที่สุด

6. Stakeholders

หากถามว่าใครถือหุ้นมากที่สุดในธุรกิจที่สนใจ แน่นอนทุกคนจะตอบว่า “เจ้าของบริษัท” ก่อนที่จะไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหาร ฉะนั้น การสอดส่องเจ้าของ และผู้บริหารช่วยวิเคราะห์โหงวเฮ้ง และลักษณะต่าง ๆ จึงมีผลต่อการตัดสินใจในการวัดระดับความเสี่ยง เช่น ความเชื่อถือ, ความสามารถในการบริหาร, ความจริงใจต่อคู่ค้า, และความน่าเชื่อถือของข้อมูล

ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อาจช่วยให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจได้ แต่ต้องมองไปที่ปัจจัยเหล่านี้ ให้ลึกขึ้นด้วย เช่น เจ้าของมีการถูกฟ้องร้อง, การปรับเปลี่ยนเจ้าของ, การเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร, เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น, หรือเหตุการณ์ที่ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงภายใน

ในตัวอย่างเคสบริษัทผลิตสายไฟ, ทำ Backdoor Listing และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายใน เมื่อมีกำไร แต่ปัญหาในการได้บัญชีส่งข้อมูลทำให้ไม่สามารถส่งงบการเงิน ส่งผลให้บริษัทติดสถานะ SP ไปในที่สุด

และทั้งหมดนี้ก็คือปัจจัยความเสี่ยงทั้ง 6 กรณี ที่ผู้ลงทุนควรตรวจสอบให้ดีก่อนเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ที่ตนเองสนใจ ซึ่งแน่นอนว่า ถ้านักลงทุนคนไหนสามารถค้นพบบริษัท ที่สามารถปิดประตูความเสี่ยง ในเรื่องที่ว่ามาได้ทั้งหมด นั่นเท่ากับว่านักลงทุนคนนั้น ได้ค้นพบขุมทรัพย์ ที่มีความยั่งยืน และความสำเร็จในระยะยาว เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สุดท้าย อย่าลืมเก็บประโยคที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรต้องศึกษา และระมัดระวังก่อนตัดสินใจลงทุน” เอาไว้ เป็นเครื่องเตือนใจทุกครั้งก่อนเลือกลงทุนในสินทรัพย์แต่ละชนิดด้วย เพราะทุก ๆ คนคงเห็นแล้วว่าปัจจัยความเสี่ยง ก็มีผลต่อการลงทุน ไม่แพ้ปัจจัยเชิงบวกของสินทรัพย์นั้น ๆ ด้วยเช่นกัน

ขอบคุณ : ทรงกลด วงศ์ไชย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK