Stock

ความท้าทายของ ‘PTTGC’ กับการก้าวข้าม ผ่านช่วง ‘วัฏจักรขาลง’

ปี 2566 นี้ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อของหลายประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในภาวะอ่อนตัว กดดันให้ส่วนต่างราคาของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอยู่ในแนวโน้มขาลง และส่งผลให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการปิโตรเคมีรายใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

GC

นี่จึงเป็นความท้าทายสำคัญของธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งต้องมีความสามารถในการปรับตัวตามทิศทางการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอกอุตสาหกรรม ด้วยการปรับรูปแบบธุรกิจ สู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมูลค่า และมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมักมี การเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักร พูดง่าย ๆ ว่ามีขึ้นก็ต้องมีลง ซึ่งในอดีตวัฏจักรของอุตสาหกรรมนี้ จะกินเวลาประมาณ 6 – 9 ปี แต่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทำให้อุปสงค์ และอุปทานในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าแต่ก่อนมากทีเดียว

เพราะฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ความเสี่ยงขาลง (downside risk) ของหุ้นกลุ่มปิโตรเคมี น่าจะค่อนข้างจำกัดแล้ว และอาจจะเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นปิโตรเคมีชั้นนำ ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ PTTGC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ด้วย PTTGC เป็นแกนนำในธุรกิจปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ของ กลุ่ม ปตท. ที่มีจุดเด่นในการเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมี ที่ใช้ก๊าซอีเทนเป็นวัตถุดิบตั้งต้นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งยังดําเนินธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่นแบบครบวงจร มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมสารไฮโดรคาร์บอนทุกประเภท อีกทั้งยังลงทุนในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (green chemical) 

GC

แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้น PTTGC จะปรับลดลง 20% จากต้นปี แต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวก หลังราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 2% ดีกว่า SET ที่ -7% และ SETPETRO ที่ -8% สะท้อนถึงมุมมองเชิงบวกมากที่ตลาดมีต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัท

ผลประกอบการช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 PTTGC พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 1,426 ล้านบาท ฟื้นตัวจากการขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/65 และไตรมาส 2/66 ธุรกิจโรงกลั่นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนกำไร เป็นผลมาจาก GRM ที่แข็งแกร่งระดับ 12.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 5.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสที่ผ่านมา

บทวิเคราะห์ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ เปิดเผยว่า มาตรการภายในช่วยให้ PTTGC ก้าวผ่านวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทดําเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ EBITDA ของบริษัทยังคงเป็นบวกในช่วงที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นขาลง

ส่วนใหญ่เกิดจากแผนงานปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (operational excellence) ใน MAX project ช่วยให้ EBITDA เพิ่มขึ้น 3.1 หมื่นล้านบาท (70% ของผลประโยชน์ทั้งหมด) ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา คิดเป็น 14% ของ EBITDA ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว   

คาดว่าทิศทางธุรกิจปิโตรเคมีจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยผู้บริหาร PTTGC มองว่าอุปสงค์จะเติบโต 2.9% YoY ตามการเติบโตของจีดีพีโลก นอกจากนี้ PTTGC จะมีการหยุดซ่อมบํารุงตามแผนลดลง โดยเฉพาะโอเลฟินส์แครกเกอร์ที่จะมีการหยุดซ่อมบํารุงโรงโอเลฟินส์แครกเกอร์ 1 หน่วย (OLE2/2) เป็นเวลาเพียง 19 วันในเดือนกันยายน 2567 เทียบกับ 50 วันในปี 2566 

GC

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ประเมินมุมมองเชิงบวก (Bullish views) ต่อ PTTGC ได้แก่ 

1. ต้นทุนวัตถุดิบที่แข่งขันได้ ของ PTTGC ซึ่งหลัก ๆ เป็นอีเทนจากโรงแยกก๊าซของ PTT จะช่วยสนับสนุนความสามารถในการทํากําไรในระยะกลาง 

2. PTTGC จะมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบมากขึ้นหลังจากโครงการ Olefins Retrofit Project (ORP) เริ่มดําเนินการในไตรมาส 2/64 และโครงการ Olefins 2 Modification Project (OMP) เริ่มดําเนินการในไตรมาส 2/66 

3. แผนของ PTTGC ที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษปลายนํ้า และผลิตภัณฑ์รีไซเคิลในพอร์ตของบริษัท จะช่วยรักษาความสามารถในการทํากําไรในระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน