Stock

หุ้นไก่ ‘CPF-BTG-GFPT-TFG’ รับอานิสงส์ ไข้หวัดนกระบาดบราซิล

หุ้นไก่ “CPF-BTG-GFPT-TFG “รับอานิสงส์ ไข้หวัดนกระบาดในบราซิล จากกรณีที่บราซิล ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 180 วัน

จากกรณีที่ประเทศบราซิลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 180 วัน หลังตรวจพบไข้หวัดนกระบาดในหมู่นกป่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ได้รับการยืนยันพบเคสการติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ย่อย H5N1 ในนกป่าแล้วอย่างน้อย 8 เคส โดย 7 เคสอยู่ในรัฐเอชปีรีตูซังตู และอีก 1 เคสตรวจพบในรัฐรีโอเดจาเนโร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบราซิล

อย่างไรก็ดี อาจไม่นำไปสู่การแบนการค้าขายนก หรือสัตว์ปีกตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) แต่เคสที่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกนั้น โดยทั่วไปแล้วอาจมีความจำเป็นต้องกำจัดสัตว์ปีกทั้งฟาร์ม และมีการเพิ่มข้อจำกัดทางการค้าจากบรรดาประเทศผู้นำเข้า ซึ่งทางการบราซิลจะเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกภายในประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป

kai11

บราซิลถือเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าการซื้อขายเมื่อปี 2022 ที่สูงถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์ ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นผลบวกต่อราคาหุ้นกลุ่มปศุสัตว์ของไทยให้ดีดตัวขึ้นแรง โดยเฉพาะผู้ส่งออกไก่ ได้แก่

CPF หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
BTG หรือบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
GFPT หรือ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)
TFG หรือ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า กระทรวงเกษตรของบราซิลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในสัตว์เป็นเวลา 180 วัน เพื่อหาแนวทางการรับมือและควบคุมความเสี่ยงที่จะระบาดไปสู่สัตว์ปีกอื่นๆในประเทศ หลังตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองเป็น sentiment บวกกับกลุ่มปศุสัตว์ของไทย เช่น GFPT, TFG, CPF, BTG เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ชาวจีนบริโภคตีนไก่คิดเป็น 80% ของโลก ซึ่งคนจีนนิยมนำมาทำอาหารว่าง แต่สามารถผลิตตีนไก่ได้เองประมาณ 18,000 ล้านตีนต่อปี โดยมีความต้องการบริโภคปีละ 30,000 ล้านตีน ทำให้ต้องนำเข้าตีนไก่แช่แข็ง ซึ่งเป็นการนำเข้าจากประเทศบราซิลมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 62.82% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด ส่วนประเทศไทยพบว่าในปี 2565 จีนนำเข้าตีนไก่จากไทยเพิ่มขึ้น 16.17% จากปีก่อน

วิจัยกรุงศรี ภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ปริมาณการผลิตไก่แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูปของประเทศไทย ในปี 2564-2566 มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3-5% ต่อปี ตามกำลังซื้อที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่การส่งออกเนื้อไก่จะเติบโตจากตลาดที่มีฐานลูกค้าแข็งแกร่ง เช่น ญี่ปุ่นและจีน เมื่อผนวกกับความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อมาตรฐานการผลิตสินค้าไก่ของไทย ตลอดจนความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและประเทศคู่ค้า ซึ่งมีส่วนเอื้อให้ไทยสร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก

shutterstock 1042657915

ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อในตลาดโลกมีปริมาณ 17.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 31.2 พันล้านดอลลาร์ ประเทศผู้ส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ของโลก คือ บราซิล มีสัดส่วนส่งออกอยู่ที่ 23.3% ของปริมาณส่งออกไก่เนื้อโลก รองลงมา คือ สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และไทย ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผลผลิตไก่เนื้อสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ที่ระดับ 2.36 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของผลผลิตไก่เนื้อทั่วโลก ขณะที่การบริโภคเนื้อไก่ในประเทศอยู่ที่ 1.51 ล้านตัน หรือประมาณ 62% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมด

ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในรูปเนื้อไก่สดชำแหละ ส่วนผลผลิตไก่เนื้อที่เหลือจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมไก่แปรรูปและแช่แข็ง ซึ่งตลาดหลักคือตลาดส่งออก

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน