Stock

มองข้ามช็อต ‘CKPower’ ไตรมาส 2 พลิกกำไร

มองข้ามช็อต CKPower ไตรมาส 2 พลิกกำไร หลังไตรมาสแรก ปี 2566 โตต่อเนื่อง 2,686 ล้านบาท

แม้ภาพรวมผลการดำเนินงานจะสะดุดไปบ้างสำหรับ หุ้น CKP หรือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยไตรมาส 1 ของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 2,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 104 ล้านบาท

ปัจจัยหลักมาจากรายได้ของการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ ต้นปีที่ต่ำกว่าปีก่อน และมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บ-น้ำน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมไปถึงการรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่ลดลงตามปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้า

อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นเป็น 2,324 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นค่าเชื้อเพลิงของ BIC ประกอบกับค่าดำเนินการและซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นจากงานซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ของ NN2 และค่าใช้จ่ายทางการเงินของ XPCL ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฐานะทางการเงินของ CKP ยังคงแข็งแกร่ง โดยหนี้สินรวมลดลง 3% จากสิ้นปี 2565 จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดของ NN2 ในเดือนมีนาคม 2566 และเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ CKPower ที่อันดับ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ทุกชุดของบริษัทที่อันดับ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่”

CKPower

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP กล่าวว่า “บริษัทได้มุ่งเน้นบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้มีกระแสเงินสดสำรองเพียงพอ รับมือกับปัจจัยภายนอกต่างๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งในเรื่องค่าเชื้อเพลิง ปริมาณน้ำ และอัตราดอกเบี้ย โดยแนวโน้มผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากเริ่มเห็นของปริมาณน้ำในช่วงตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนอีกครั้ง”

ขณะที่มุมมองของนักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่าผลประกอบการไตรมาส 1/2566 ที่ CKP พลิกเป็นขาดทุน เป็น 2 ปัจจัย หนึ่งคือการเกิดคลื่นความร้อนในปี 2566 และปรากฏการณ์ลานีญาที่คลี่คลายส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และปริมาณน้ำที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ลดลง 36% YoY และลดลง 9% YoY ตามลำดับ

ทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของทั้งสองโครงการลดลง 4% YoY และ ลดลง 10% YoY ตามลำดับ ปัจจัยสองคือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยเป็นสิ่งที่กดดันให้โครงการ XPCL มีส่วนแบ่งขาดทุนมากขึ้น

CKPower

แต่คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2/2566 จะพลิกเป็นกำไรได้ เนื่องจาก

1.  ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลง ซึ่งเป็นผลจากราคา Asia Spot LNG และการปรับสัญญาสัมปทานของแหล่งก๊าซบงกช

2.  ปริมาณน้ำในลาวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามปัจจัยฤดูกาล จะส่งผลให้ปริมาณขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาวฟื้นตัว

ดังนั้น คงราคาเหมาะสมหุ้น CKP ณ สิ้นปี 2566 ที่ 4.80 บาทต่อหุ้น แนะนำ “ซื้อ” แม้หุ้นซื้อขายอยู่ในโซนถูก PBV เพียง 1.1 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี -2SD แต่ในช่วงระยะสั้นหุ้นมีโอกาสถูกกดดันจากงบที่ต่ำกว่าคาดและการปรับประมาณการลงของ Consensus

นอกจากนี้ CKP จะมีการจัดการประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566  ต้องมาติดตามว่าจะมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมไหม เพราะในปัจจุบันหุ้นยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ที่จะเข้ามาหนุนการฟื้นตัวของราคาในระยะสั้น เพราะฉะนั้นเชิงกลยุทธ์จึงแนะนำ Wait & See

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน