Stock

‘ดาวโจนส์’ ดิ่งเกือบ 400 จุด ผวา ‘เฟด’ ขึ้นดอกเบี้ยแรง หลัง ‘PCE’ พุ่งเกินคาด

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (24 ก.พ.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” ดิ่งเกือบ 400 จุด เหตุนักลงทุนพากันเทขายหุ้น หลัง ดัชนี PCE สูงเกิดคาด ทำให้เกิดกระแสคาดการณ์มากขึ้นว่า “เฟด” จะขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อไป เพื่อสกัดเงินเฟ้อ 

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ที่ทำให้นักลงทุนวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากต่างประเทศ ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐยังดีดตัวสูงขึ้น จนเกิดภาวะ inverted yield curve ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ดาวโจนส์

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 32,788.15 จุด ร่วงลง 365.76 จุด หรือ 1.10% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,960.93 จุด ลดลง 51.39 จุด หรือ 1.28% และดัชนีแนสแด็ก ที่ 11,383.59 จุด ดิ่งแรง 206.81 จุด หรือ 1.78%

นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาด เพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พุ่งเกินคาดตอกย้ำว่า เงินเฟ้อยังไม่ผ่านจุดสูงสุด หลังก่อนหน้านี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก็สูงกว่าที่ประเมินไว้

นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมีนาคม และคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดที่ 5.25-5.50% ในเดือนมิถุนายน ก่อนคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวตลอดทั้งปีนี้ โดยไม่มีการลดดอกเบี้ย จากเดิมที่คาดว่า จะลดดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนธันวาคม

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 5.4% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าระดับ 5.3% ในเดือนธันวาคม และเมื่อเทียบรายเดือน เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าระดับ 0.2% ในเดือนก่อนหน้านั้น

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 4.4% และเมื่อเทียบรายเดือน ปรับตัวขึ้น 0.6% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.5%

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนี CPI

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo