Stock

‘ดาวโจนส์’ ขยับขึ้นเล็กน้อย 20 จุด หุ้นพลังงาน-การเงิน หนุนตลาด

ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ของสหรัฐ ซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (20 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น โดยที่ “ดาวโจนส์” พลิกกลับมาอยู่ในแดนบวก แรงหนุนจากขาขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน และการเงิน หลังแบงก์ชาติญี่ปุ่น สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน ด้วยการประกาศ ขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวล่าสุดที่ 32,777.59 จุด ขยับขึ้นมา 20.05 จุด หรือ 0.06% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ที่ 3,811.62 จุด ลดลง 6.04 จุด หรือ 0.16% และดัชนีแนสแด็กที่ 10,509.35 จุด ปรับลงมา 36.68 จุด หรือ 0.35%

ในช่วงแรกของการซื้อขาย ดาวโจนส์ปรับตัวลง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของญี่ปุ่น ตลาดยังถูกกดดันจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนพากันเทขายพันธบัตร หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) สร้างความประหลาดใจต่อตลาด ด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

ดาวโจนส์

การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยจำนองของสหรัฐ จะทำให้ผู้บริโภคมีเงินสำหรับการใช้จ่ายลดน้อยลง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินกู้จำนองเพิ่มมากขึ้น และบริษัทต่างๆ จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ทำให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน

นักลงทุนกังวลว่า ญี่ปุ่นจะหันมาใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินตามรอยธนาคารกลางทั่วโลก หลังจากบีโอเจ ประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

นักวิเคราะห์หลายสำนักต่างระบุตรงกันว่า ปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” อาจไม่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปีนี้ ท่ามกลางความกังวลว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย

ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ “ซานต้า แรลลี่” มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 7 วันทำการ โดยมีขึ้นในช่วง 5 วันทำการสุดท้ายของปีปัจจุบัน รวมทั้ง 2 วันแรกของปีใหม่

นักลงทุนจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (พีซีอี) ของสหรัฐ ที่จะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ (23 ธ.ค.) โดยคาดว่าดัชนีพีซีอีทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะเพิ่มขึ้น 5.5% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 6.0% ในเดือนตุลาคม

นอกจากนี้ คาดว่าดัชนีพีซีอีพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ จะปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวจากระดับ 5.0% ในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ ดัชนีพีซีอี ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) จากกระทรวงแรงงานสหรัฐ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo